Insight : แก้หนี้ครัวเรือน เริ่มที่วัยเยาว์

เศรษฐกิจ
11 ก.ย. 61
12:12
759
Logo Thai PBS
Insight : แก้หนี้ครัวเรือน เริ่มที่วัยเยาว์
ธปท.ลุยแก้หนี้ครัวเรือน เริ่มกลุ่มอาชีวศึกษา จบไวทำงานเร็วแต่ไม่มีแผนการเงิน หวังแก้ปัญหาเจนวาย ที่มีภาวะหนี้สูง และน่าเป็นห่วงที่สุด

"หนี้ครัวเรือน" เป็นปัญหาใหญ่สำหรับยุคปัจจุบัน และยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว พฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไป การทำธุรกรรมการเงินทำได้ง่าย เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดตามร้านค้า พร้อมโอน พร้อมเพย์ มีครบ รู้ตัวอีกทีเงินหายจากบัญชีไปแล้ว แม้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คือต้องลดปริมาณเงินสดในระบบและสร้างความสะดวกสบายเท่านั้น


เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนซื้อ ทำให้หนี้ครัวเรือนช่วงกลางปีนี้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยสถานการณ์หนี้สินจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  พบว่าช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 77 ของจีดีพี มูลหนี้ 12.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2560 ร้อยละ 5.2

ขณะที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป สำหรับบัตรสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 แต่บัตรเครดิตยอดผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป ลดลงร้อยละ 15.8

เครดิตบูโรเปิดเผยข้อมูลว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มเจนวาย อายุเฉลี่ย 21- 38 ปี มีบัตรเครดิต สูงร้อยละ 56 และสินเชื่อบุคคลร้อยละ 44 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด โดยปีที่ผ่านมากลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์มีหนี้เสีย สูงถึง 2.4 ล้านสัญญา จึงเป็นที่มาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดประกวดผลงานด้านความรู้ทางการเงินในโครงการ Fin ดี We can do เพื่อคุมหนี้ครัวเรือนและดึงนักศึกษาจากกลุ่มอาชีวศึกษา และอาจารย์เข้าโครงการแข่งขันวางแผนการเงิน 

แม้กลุ่มน้องๆ จาก 4 วิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเจนซ์แซด ผู้ที่เกิดปี 2544 ขึ้นไป แต่ผลงานที่นำมาเสนอ น่าสนใจไม่น้อย
เช่น “โครงการ กยศ. เป็นหนี้ได้ ใช้หนี้เป็น” ผลงานจากน้องๆ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น ธนบัตร บุญจวง นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น อายุ 20 ปี เล่าว่า ที่เลือกหัวข้อนี้เพราะเห็นข่าวจากสื่อ ที่ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ กยศ. จำนวนมาก เฉลี่ยสูงถึง 2.1 ล้านคน มูลหนี้สูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จากผู้กู้ทั้งหมด 5 ล้าน 4 แสนคน ทำให้ไม่มีเงินที่ส่งต่อถึงน้องๆ รุ่นหลัง จึงรวมกลุ่มกัน 5 คน ทำหัวข้อนี้ เพื่อปลูกจิตสำนึก เป็นหนี้ต้องใช้


ในวิทยาลัยมีคนขอกู้ กยศ. 300 คน แต่เราดึงมาอบรม 100 คน มาอบรมตั้งแต่วางแผนการเงิน เก็บออม 10 % จากเงินที่พ่อแม่ให้มา และให้จัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่าย เพราะหนี้กยศ.คือ หนี้ก้อนแรกของชีวิต ที่ได้มาจากโอกาสทางการศึกษา ต้องทำให้ผู้กู้รู้ว่า ถ้าไม่จ่ายจะผิดกฎหมายยังไง และอนาคตกยศจะเข้าเครดิตบูโร จะกลายเป็นหนี้ติดตัวไปอีก


ธนบัตร ยอมรับว่า หลังอบรมมีคนเข้าใจมากขึ้น และมีการเก็บออมเงินประมาณ ร้อยละ 80 ส่วนที่ไมได้เก็บออม ส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวยากจน แต่ก็พยามเข้าไปดูว่าจะลดรายจ่ายส่วนไหนได้บ้าง


ไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้น อาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่ง ร่วมส่งผลงานประกวด หลายรูปแบบผลงาน ชูโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ให้รู้จักการพอประมาณ และสอนการเขียนแผนโครงการธุรกิจ

บุญญาพร มหาฤทธิ์ หัวหน้างานกิจกรรมวิทยาลัยเทคโนโลยี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ร่วมทำโครงการ Super T ยอมรับว่า นักศึกษาสายอาชีพ จะเข้าถึงสินเชื่อยาก เพราะขาดประสบการณ์วางแผนทำธุรกิจ ซึ่งโครงการนี้จะเข้ากับยุคปัจจุบันที่สถาบันการเงิน นำแผนธุรกิจมาประกอบการให้สินเชื่อ ถ้าเด็กๆมีความรู้พื้นฐานการเขียนแผนได้ดี โอกาสเข้าถึงสินเชื่อจะทำได้ง่าย

นอกจากเราจะสอนเขียนธุรกิจ ยังเพิ่มวิชากิจกรรมวางแผนการเงิน ในระบบการเรียนการสอนให้ครู เพื่อให้ครูตระหนักในการใช้จ่าย หาอาชีพเสริม ไม่ได้หวังแค่เงินเดือนข้าราชการอย่างเดียว ก็คาดหวังว่าผลงานเราจะช่วยลดปัญหาหนี้ครูในปัจจุบัน


จุดสำคัญที่ทำให้ ธปท.เลือกที่จะไปส่งเสริม กลุ่มนักศึกษาสายอาชีพ อาชีวศึกษา นวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายงานและงบประมาณ ธปท. ระบุว่า เพราะเป็นกลุ่มที่จบการศึกษาเร็ว ทำงานเร็ว แต่ยังไม่รู้จักวางแผนการเงิน ทำให้มีสัดส่วนการเป็นหนี้มากกว่าเด็กจบจากมหาวิทยาลัย จึงเริ่มที่กลุ่มนี้ เพื่อปลูกฝั่งตั้งแต่วัยเด็ก

คนไทยเป็นหนี้เยอะ แต่ก็ไม่สายเกินแก้ แต่เราต้องรู้ว่าจะแก้จุดไหนให้ตอบโจทย์ อย่างกลุ่ม Gen Y อายุ 16-20 ปี มีความรู้การเงินที่ดี แต่ไม่รู้จักตระหนัก หรือสนใจที่จะนำไปปฎิบัติ ก็จะมีหนี้สินเยอะตั้งแต่เด็ก และไม่เข้าใจดอกเบี้ยทบต้น ผ่อนขั้นต่ำ ก็เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ


ธปท.ยังเคยแผยแพร่ผลสำรวจของ OECD ที่ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า ปี 2559 คนไทยมีความรู้การเงินต่ำกว่าอีก 30 ประเทศ และพฤติกรรมของคนแต่ละช่วงเจนเนอเรชั่น แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ขาดการบริหารจัดการเงินที่ ขาดการไตร่ตรองก่อนซื้อ

ผลงานด้านการเงินของสถาบันอาชีวศึกษา ที่นำมาเสนอนั้นน่าสนใจแทบทั้งสิ้น สอดคล้องกับผลสำรวจข้างต้นที่คนไทยมีความรู้ทางการเงิน แต่การนำไปปฎิบัติจริง เป็นสิ่ง ธปท. คาดหวัง นำผลงานไปถอดบทเรียน เพื่อแก้ไขหนี้ ทำให้ชีวิตคนไทยหลังเกษียณ ไร้หนี้สินจริงจัง

 

ข่าว : สิรีภัคกมณ ตรัยตรึงตรีคูณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง