คนไทยป่วยโรค "พิษสุราเรื้อรัง" 1 ล้านคน

สังคม
11 ก.ย. 61
13:08
6,526
Logo Thai PBS
คนไทยป่วยโรค "พิษสุราเรื้อรัง"  1 ล้านคน
ผลสำรวจคนไทยป่วยโรค "พิษสุราเรื้อรัง" 1 ล้านคน เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยงผ่านคลินิกทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ขณะที่ผลสำรวจเชิงสถิติพบผู้หญิงและเด็กเป็นเป้าหมายการตลาด ส่งผลแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 13

วันนี้ (11 ก.ย.2561) นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์คนไทยกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่านักดื่มหน้าใหม่มีแนวโน้มบางกลุ่มลดลง แต่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้หญิง และเด็กซึ่งมีกฎหมายห้ามต่ำกว่าอายุ 18 ปีภายใต้กฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และต่ำกว่า 20 ปีตามพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มมากขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 13 โดยกลุ่มผู้หญิงและเด็ก เป้าหมายหลัก ของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่จากข้อมูลการประมาณการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คาดว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจำนวน 1 ล้านคน ซึ่งบางส่วนเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆและมีการคัดกรองบางส่วน 

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า แต่หากถามว่าคน 1 ล้านคนอยู่ตรงไหนบ้างของประเทศ ยอมรับว่าเราไม่มีข้อมูลชิงลึก ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการค้นหา เพื่อนำมาสู่ระบบการรักษา ซึ่งได้เริ่มจากช่วงการทำโครงการคนเลิกเหล้าเข้าพรรษา เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยผ่านระบบคลินิกรักษาโรคเรื้อรังทั่วประเทศให้ช่วยสำรวจ แต่คนที่เข้ามาส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง ไม่ยอมรับว่าเป็นคนที่ดื่มจนป่วย หรือเป็นแค่นักดื่มหน้าใหม่

สิ่งแวดล้อม-โรงเรียน-บ้านช่วยหยุดนักดื่ม

ความอันตรายของโรคพิษสุราเรื้อรัง คือจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าคนที่เป็นโรคอื่นๆพ่วงด้วย  บางคนถึงขั้นที่เรียกว่า "ลงแดง" พอหยุดเหล้าแล้ว จะเกิดอาการชักเกร็ง และบางคนอาจจะเริ่มเบลอ มือสั่น เพราะภาวะที่แอลกอฮอลทำลายอวัยวะภายในล้มเหลว ตับถูกทำลายจนมีผลข้างเคียง 

ในทางการแพทย์การเลิกดื่มแอลกอฮอล์เลิกได้ แต่ระยะเวลาของการดื่มจนเข้าขั้นป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง แตกต่างกันไปตามสภาพร่างกาย อายุของแต่ละคน แต่บางคนพอหยุดไปได้แล้ว เมื่อกลับไปเจอเพื่อน เจอสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะกลับไปดื่มเหมือนเดิม สิ่งสำคัญคือกำลังใจ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อเลิกแล้ว เข้าระยะฟื้นตัว หากดื่มมานานถึงจะเลิกแล้วมีผลข้างเคียงของโรคได้ 

เรื่องการติดเหล้าไม่ใช่เรื่องปกติ มีผลข้างเคียงมาก ขณะที่ทางออกในการหยุดนักดื่มหน้าใหม่ ในระดับครอบครัวพ่อแม่ต้องเลิก ไม่ให้ลูกเห็นพฤติกรรมการดื่ม ส่วนระดับโรงเรียน ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการเริ่มต้นให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และสุดท้ายหน่วยงานต่างๆต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้สื่อโฆษณา และพื้นที่ที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงเหล้าได้ง่าย 

 

 

ผลสำรวจชี้ร้อยละ 62 ยอมรับ “เคยดื่ม”

ขณะที่งานวิจัย การสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็นต่อฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 16 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ซึ่งได้รับทุน จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเดือน มี.ค.2560 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 12 - 65 ปี โดยสุ่มตัวอย่างจาก 16 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 4,074 ตัวอย่าง

ตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 62.7 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตลอดชีวิตที่ผ่านมา เมื่อจำกัดในช่วง 12 เดือน พบว่าสัดส่วนที่เคยดื่มเหลือร้อยละ 42.3 เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวอย่างที่มีอายุ 15 – 19 ปี พบว่าในช่วง 12 เดือนมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.4 ที่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์

เฉพาะผู้ที่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเครื่องดื่มที่นิยมมากได้แก่ เบียร์ และเหล้า คิดเป็นร้อยละ 82.6 และ 65.8 ซึ่งเป็นการดื่มแบบประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.5 และ 34.8

ทั้งนี้สังเกตได้ว่า เหล้ายาดอง มีการดื่มแบบประจาอยู่ค่อนข้างมากคือ ร้อยละ 30.4 สถานที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ซื้อบ่อยที่สุด พบว่าอันดับแรกคือ ร้านขายของชำ ร้อยละ 35.9 อันดับสองรองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11 แฟมิลี่มาร์ท ร้อยละ 29.3 และอันดับสาม คือ ร้านอาหาร สวนอาหารภัตตาคาร ร้อยละ 11.6

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง