สาวออสซี่ ถูกตัดนิ้วเท้า 5 นิ้ว อ้างติดเชื้อสปาปลาในไทย

สังคม
14 ก.ย. 61
17:20
9,215
Logo Thai PBS
สาวออสซี่ ถูกตัดนิ้วเท้า 5 นิ้ว อ้างติดเชื้อสปาปลาในไทย
สาวชาวออสเตรเลีย อ้างรับบริการสปาปลาที่ประเทศไทยเมื่อปี 2553 จนติดเชื้อแบคทีเรีย shewanella และต้องตัดนิ้วเท้าข้างขวาทั้งหมด ขณะที่แพทย์ระบุว่า มีโอกาสติดเชื้อได้หากร้านที่ให้บริการไม่สะอาดและผู้ใช้บริการป่วยเป็นโรคประจำตัวที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย

วันนี้ (14 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวเดลี่เมลออนไลน์รายงานว่า หญิงสาวคนหนึ่งออกมาเรียกร้องหลังในช่วงวันหยุดพักผ่อน เธอได้เข้ารับบริการสปาปลาที่ประเทศไทยแต่เท้าติดเชื้อชนิดกินกระดูกจนต้องตัดนิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้ว

วิกตอเรีย เคอธอยส์ สาวชาวเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย อายุ 29 ปี ใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีนิ้วเท้าข้างขวามานานกว่า 10 ปี หลังศัลยแพทย์ได้ทำการผ่าตัดนิ้วเท้าของเธอ เนื่องจากพบว่าเท้าของเธอติดเชื้อแบคทีเรีย shewanella จากการทำสปาปลาเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นการนำปลาน้ำจืดมากัดกินผิวหนังที่ตายแล้ว

เคอธอยส์อ้างว่า ขณะที่เธอพักอยู่ที่ประเทศไทย เธอตัดสินใจเข้ารับบริการสปาปลา เนื่องจากคิดว่าทางร้านมีระบบจัดการที่ดีและสะอาด แต่เธอคิดผิด ในช่วงแรกเธอไม่พบอาการผิดปกติใดๆ แต่หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็สายเกินแก้แล้ว เนื่องจากเชื้อได้กระจายไปถึงกระดูกของเธอแล้ว


แพทย์ชาวออสเตรเลียใช้เวลานานถึง 2 ปี วินิจฉัยโรคของเคอธอยส์จนพบว่าเกิดข้อผิดพลาดจากน้ำซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้นและเริ่มมีอาการผิดปกติ โดยเชื้อดังกล่าวได้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางแผลหัวแม่เท้าที่เธอเคยติดเชื้อมาก่อนตอนเธออายุ 17 ปี ทำให้นิ้วเท้าทั้งหมดไม่สามารถรักษาได้ แพทย์จึงแนะนำให้เธอตัดนิ้วเท้าออกในปี 2555 แต่เชื้อก็ยังคงแพร่กระจายอยู่จึงทำให้เธอต้องตัดนิ้วเท้าข้างขวาทั้งหมดในอีก 5 ปีต่อมา

ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงสอบถามไปยัง พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า การทำสปาปลานั้นมีโอกาสติดเชื้อได้หากร้านที่ให้บริการไม่สะอาด ไม่มีการเปลี่ยนน้ำหรือเปลี่ยนปลา รวมถึงผู้ที่เข้ารับบริการจะต้องไม่มีบาดแผลซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ 

ทั้งนี้ กรณีของเคอธอยส์ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ยืนยันว่า เชื้อแบคทีเรีย shewanella เป็นเชื้อที่ติดได้ยาก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายเท่านั้นที่จะมีโอกาสติดเชื้อจนนำไปสู่การเกิดโรค เนื่องจากเชื้อ shewanella จะไม่ก่อโรคในคนปกติทั่วไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง