วิกฤต "ไซเตส" จับตาฟาร์มเสือไทยแหล่งค้า

สังคม
26 ก.ย. 61
19:04
1,494
Logo Thai PBS
วิกฤต "ไซเตส" จับตาฟาร์มเสือไทยแหล่งค้า
ไซเตสจับตาฟาร์มเสือไทย กังขาการดูแลและป้องกันการลักลอบค้าขาย พบบางฟาร์มไม่เปิดให้เข้าชม แต่มีรายได้เลี้ยงเสือนับร้อยตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่มั่นใจไทยตอบคำถามได้ คาดหวัง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น

วันนี้ (26 ก.ย.2561) แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กำหนดการควบคุมประชากรเสือในกรงเลี้ยง ซึ่งมอบให้เอ็นจีโอไปสำรวจและเขียนรายงาน และเลขาธิการไซเตสจะรวบรวมข้อมูลนำเข้าที่ประชุม ซึ่งปีนี้ไทยถูกจับตาและตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนสัตว์ การเพาะเลี้ยงเสือ เนื่องจากมีฟาร์มเสือหลายแห่ง บางส่วนไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชม นำไปสู่ข้อสงสัยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและความเป็นอยู่ของเสือ ซึ่งบางฟาร์มมีเสือมากถึงร้อยตัว 

แหล่งข่าววิเคราะห์จุดอ่อนสำคัญ คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 ที่ยกเว้นโทษให้กับผู้ที่มีเสือถูกกฎหมายอยู่ในครอบครองสามารถนำมาขึ้นทะเบียนได้ อาจเกิดช่องโหว่ให้มีเสือในกรงเลี้ยงจำนวนมาก นอกจากนี้มีการนำเข้าเสือต่างประเทศเพื่อปรับปรุงพันธุ์ แต่ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมเป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการเจาะเลือด เก็บลายเสือ เก็บดีเอ็นเอเสือจากฟาร์มทั่วประเทศ รวมทั้งถ่ายรูปลายเสือในป่าเพื่อเป็นฐานข้อมูล ให้สามารถตรวจสอบฟาร์มต้นทางของเสือดังกล่าว หากมีการขนย้าย หรือลักลอบนำออกไปยังต่างประเทศ โดยมั่นใจว่าไทยจะตอบข้อสงสัยของต่างชาติต่อกรณีดังกล่าวได้

ปี 2546 มีการนิรโทษกรรม ทำให้เสือที่อาจได้มาไม่ถูกต้องมาแจ้งครอบครองได้ ออกลูกออกหลานมาจำนวนมาก นำไปสู่ฟาร์มเสือ ซึ่งเสือมีการควบคุมเข้มงวดมาก แต่มีช่องว่างบางอย่าง ต้องตรวจสอบว่ามีจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือไม่ ฟาร์มที่ปิดไม่ให้คนเข้าชม เขาเอารายได้มาจากไหน เขาสงสัยเรื่องการจัดการดูแลว่าทำอย่างไรไม่ให้หลุดลอดจากระบบ

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในส่วนของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง จะมีส่วนช่วยเรื่องการจับกุม การตรวจค้น สามารถตั้งข้อกล่าวได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการเพิ่มโทษจากเดิมสูงสุดจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดโทษขั้นต่ำ เช่น จำคุกอย่างน้อย 1 ปี แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของโทษที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จขั้นตอนกฤษฎีกาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

คำนิยามเก่าที่ไม่ครอบคลุมการกระทำความผิด เช่น การค้าที่เป็นการซื้อขายทั่วไป มีการเพิ่มเรื่องการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ ทำให้กล่าวหาได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ พ.ร.บ.สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยใช้ พ.ร.บ.อื่นควบคู่ด้วย เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

TRAFFIC ตีแผ่ไทยแหล่งค้าสัตว์ป่าออนไลน์

9.2 หมื่นล้าน ไทยสูญคดี "ตัดไม้-ล่าสัตว์ป่า"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง