เปิดตัวพรรคเพื่อน "เพื่อไทย" ในเลือกตั้ง '62

การเมือง
2 ต.ค. 61
16:33
2,084
Logo Thai PBS
เปิดตัวพรรคเพื่อน "เพื่อไทย" ในเลือกตั้ง '62
“เพื่อไทย” กระจายความเสี่ยงหวั่นแพ้น็อกก่อนเลือกตั้ง พร้อมประสานพรรครองรวมเสียงตั้งรัฐบาล

พรรคการเมืองที่ถูกจับตาว่าตั้งเพื่อเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทย ชื่อแรก คือ พรรคประชาชาติ นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่แยกออกมากจากพรรคเพื่อไทย และยืนยันชัดเจนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. 

 

ลำดับต่อมาคือ พรรคเพื่อธรรม นอกจากจะมีชื่อคล้ายกับพรรคเพื่อไทย เมื่อพิจารณาชื่อกรรมการบริหารพรรคล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค ที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมชาย วงสวัสดิ์ และนางนลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ทั้งนี้มีรายงานว่าพรรคเตรียมดัน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นหัวหน้าพรรค  เบื้องต้นคาดว่าผู้สมัคร ส.ส. ในภาคเหนือและภาคอีสาน ย้ายเข้าสังกัดเกือบทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีที่พรรคเพื่อไทยสะดุดทางการเมือง โดยเฉพาะการแถลงข่าว 4 ปี คสช. ที่เพื่อไทยอาจถูกน็อกก่อนการเลือกตั้ง

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

 

พรรคลำดับที่ 3 คือ พรรคพลังปวงชนไทย ที่พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ออกมายอมรับว่าเป็นที่ปรึกษาพรรคอย่างไม่เป็นทางการ เพราะยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ และมีข่าวว่านายนพดล ปัทมะ ทนายความของนายทักษิณ เตรียมร่วมงานพรรค แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธหนักแน่นว่ายังอยู่กับพรรคเพื่อไทยก็ตาม 

นอกจากนี้ เชื่อว่ายังมีพรรคการเมืองอื่นๆ พร้อมร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เช่น พรรคเสรีรวมไทยของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลคสช.เสมอมา และพรรคประชาภิวัฒน์ ที่มีสมเกียรติ ศรลัมพ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยก่อนออกจากพรรคหลังการรัฐประหารของ คสช. ปี 2557

พรรคใหญ่กระจายความเสี่ยง

พรรคเพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ยิ่งนับย้อนไปตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และกลายเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ทว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกยุคยึดระบบเสียงข้างมาก หรือ "Majority System" ไม่ว่า ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เมื่อเขตหรือบัญชีใดได้คะแนนมากสุด ก็เป็นผู้ชนะและได้นับแต้ม ส.ส. เพิ่มขึ้นทันที 

การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างออกไป ระบบสัดส่วนผสมที่ถูกนำมาใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2561 คือการเลือกตั้งผ่านบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่ง ส.ส.เขตยังแข่งขันตามปกติ 350 เขต แต่คะแนนที่ได้ในแต่ละเขต จะถูกนับรวมในระดับประเทศเพื่อคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

 

ทั้งนี้การเลือกตั้ง ปี 2562 คาดว่ามีผู้ใช้สิทธิ์ 37.1 ล้านคน (70% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 53 ล้านคน) เมื่อนำไปคำนวณกับเขตเลือกตั้ง 350 เขต และหักจำนวนบัตรเสีย 3 % เท่ากับว่าทั่วประเทศจะมีคะแนนทั้งหมด "35 ล้านคะแนน"

เมื่อนำคะแนนเสียง 35ล้านคะแนน เฉลี่ยที่นั่ง ส.ส. 500 คน เท่ากับการจะได้ ส.ส. 1 คน ต้องมี 70,000 คะแนน

ย้ำว่า "70,000 คะแนน" จะได้ ส.ส. 1 คน ด้วยเงื่อนไขแบบนี้จะสร้างข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ พรรคใหญ่ พรรคกลาง และพรรคเล็ก-หน้าใหม่ แตกต่างกัน

โดยเฉพาะพรรคใหญ่เป็นที่น่ากังวล ที่ผ่านมาแม้มีชัยชนะในระดับเขต แต่คะแนนสูงไม่ถึง 70,000 คะแนน จึงเป็นไปได้น้อยที่คะแนนในแต่ละเขตจะถูกไปคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ดังนั้นสรุปได้ว่าโจทย์ของพรรคการเมืองใหญ่ คือ ไม่ใช่การคว้าชัยชนะ ส.ส. เขต เท่านั้น แต่จะต้องดันคะแนนให้สูงกว่า 70,000 คะแนนด้วย

อีกปัจจัยที่น่ากังวล คือกรณีที่พรรคใหญ่ได้ ส.ส. เขต เกินจำนวน ส.ส. ที่พึงจะได้ไปแล้ว เรียกว่า "Over Hang" ประเด็นนี้จะทำให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส. ไม่ถึงเป้า

ส่วนพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กหรือพรรคหน้าใหม่ พรรคเหล่านี้หากได้คะแนนจาก ส.ส.เขต มาก ก็มีสิทธิ์ที่จะได้ ส.ส. บัญรายชื่อเพิ่ม ซึ่งไม่ขออธิบายให้สับสนในชั้นนี้

สรุปพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยต้องกระจายความเสี่ยง ผ่านความร่วมมือของพรรคพันธมิตร ไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะสะดุดทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเพิ่มโอกาสในการกวาดที่นั่ง ส.ส. ที่ "พรรคเพื่อน" ขนาดกลาง –ขนาดเล็ก มีโอกาสเก็บ ส.ส. เพิ่มขึ้น

แต่ที่ต้องระวัง คือการแย่งคะแนนเสียงจากประชาชนในการชิงชัย ส.ส.เขต ที่จะกลายเป็นการตัดคะแนนกันเอง ดังที่พรรคเพื่อไทยเคยเจอในการเลือกตั้งสนามเล็กที่เชียงใหม่มาแล้ว

อย่างไรก็ตามการเมืองไม่ใช่เรื่องคณิตศาสตร์ การคำนวนภายใต้สมมติฐาน ผู้มาใช้สิทธิ์-คะแนนเสียง จากสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเพียงแนวโน้มทางการเมืองเท่านั้น แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เปลี่ยนได้ ไม่เฉพาะประชาชนที่จะออกมาตัดสิน แต่ด้วยความสัมพันธ์ของแต่ละพรรค-แต่ละคน ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง