เปิดภารกิจเยียวยา "เสือ" ติดคดี

Logo Thai PBS
เปิดภารกิจเยียวยา "เสือ" ติดคดี
ผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว กับปฏิบัติการตรวจค้นและย้ายเสือวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เสือโคร่งส่วนหนึ่งถูกย้ายไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี เจ้าหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันภาวะเครียดที่อาจเสี่ยงเกิดโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง

ปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นสวนสัตว์และฟาร์มเสือ รวม 6 จุด ได้แก่ สวนเสือศรีราชา อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยา ไทเกอร์พาร์คพัทยา จ.ชลบุรี สวนสัตว์ดอนตูมแอนด์รีสอร์ท จ.นครปฐม สวนสัตว์สาธารณะหัวหิน ซาฟารี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 26 ก.ย. และ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา

แม้ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) จะไม่พบความผิดปกติของการครอบครองเสือ จำนวนเสือเกิดใหม่ และเสือตาย แต่เป็นครั้งแรกที่เหยี่ยวดง ได้ผ่าซากเสือ ตรวจสอบอวัยวะภายในและกระดูก เพิ่มเติมจากการตรวจสอบไมโครชิพ เพศ ขนาด เขี้ยว ฟัน และลายเสือ ป้องกันการลักลอบขายอวัยวะ

 

เหยี่ยวดงตรวจสวนสัตว์-ฟาร์มเสือ

เหยี่ยวดงตรวจสวนสัตว์-ฟาร์มเสือ

 

มาตรการเข้มงวดดังกล่าวเกิดขึ้น ช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) จับตาฟาร์มเสือไทย หลังกังขาการดูแลและป้องกันการลักลอบค้า พบบางฟาร์มไม่เปิดให้เข้าชม แต่มีรายได้เลี้ยงเสือนับร้อยตัว ขณะที่ทางการไทยมั่นใจว่าจะตอบข้อสงสัยได้ทั้งหมด 

 

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่ติดตามความเป็นอยู่สัตว์ป่าของกลางในคดีค้าสัตว์ป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี มีสัตว์ป่าทั้งหมด 64 ชนิด 597 ตัว โดยเฉพาะเสือโคร่ง สายพันธุ์ไซบีเรีย 85 ตัว ที่ยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี

นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง เล่าว่า สัตว์ของกลางส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ การดูแลจะเน้นให้สัตว์ป่ามีสวัสดิภาพที่ดี มีอุปกรณ์ แหล่งน้ำและพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากโรคต่างๆ การผ่าตัด และค่ายา

 

บรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง

บรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง

บรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง

 

สำหรับเสือของกลาง ร้อยละ 90 เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย ไม่ใช่สายพันธุ์ที่อาศัยตามธรรมชาติในไทย จึงไม่ได้เพาะพันธุ์ โดยให้เสืออยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่อึดอัดจนเกินไป แยกเลี้ยงกรงละ 1 ตัว ความกว้างของกรงประมาณ 40 ตารางเมตร มีอุปกรณ์เสริมสร้างสมรรถภาพภายในกรง รวมทั้งให้อาหารสด อย่างโครงไก่ 4-5 กิโลกรัมต่อวัน และอาหารเสริม

 

เสือของกลางส่วนใหญ่ เราไม่เพาะพันธุ์และไม่สามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะเสือไซบีเรีย เป็นเสือทางจีนตอนบนที่ติดกับรัสเซีย แต่เสือบ้านเราเป็นสายพันธุ์อินโดไชนีส เราก็ต้องเลี้ยงให้เขามีความสุขและมีสุขภาพที่ดีจนชั่วอายุขัย

 

 

 

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง นำไทยพีบีเอสออนไลน์ เดินชมกรงเสือในระยะห่างสมควร เพื่อป้องกันเสือเกิดอาการเครียด พร้อมเล่าว่า เสือโคร่ง บางส่วนได้รับการผ่าตัดรักษาอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากความเครียด จนทำให้สุขภาพอ่อนแอ ลักษณะเดียวกับคนที่เป็นไข้ หรือโรคภูมิแพ้ เมื่อลิ้นกล่องเสียงบวม เสือจะหายใจไม่สะดวกและเสี่ยงตายได้ สัตวแพทย์และสัตวบาลจึงต้องดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมสังเกตพฤติกรรมการเดิน การกิน การนอน หากพบความผิดปกติจะเข้ารักษาทันที

 

เสือมีความเครียดตลอดช่วง 6 เดือนแรกที่ถูกย้าย กัดกรงเหล็กขาดจนต้องซ่อมทุกวัน ถ้าถูกกระตุ้นมากความเครียดเขาก็สูง ส่งผลต่อสุขภาพ

 

สมชาย รูปสูง ผู้ดูแลเสือของกลาง

สมชาย รูปสูง ผู้ดูแลเสือของกลาง

สมชาย รูปสูง ผู้ดูแลเสือของกลาง

 

นายสมชาย รูปสูง พนักงานราชการ ผู้ดูแลเสือของกลางทั้งหมดในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง เล่าว่า ช่วงแรกๆ ที่เสือถูกย้ายมาจะมีความเครียดสูง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการขนย้าย จากปกติจะใช้การวางยาสลบในพื้นที่เงียบๆ และดำเนินการทีละตัว แต่เคสดังกล่าวเสือถูกปล่อยเดินไปทั่ววัด เจ้าหน้าที่ต้องยิงยาสลบและใช้ตาข่ายล้อมกั้นไว้ เป็นการทำงานแข่งกับเวลา หลังขนยายมาแล้วเสือใช้เวลา 4-5 เดือน ในการปรับตัวและเริ่มคุ้นเคยกับคนเลี้ยง ทำให้ดูแลง่ายขึ้น บางตัวเรียกแล้วเดินมาหาได้

 

ตอนนี้สบายทั้งเสือและคนเลี้ยง ไม่มีความเครียด ไม่ต้องซ่อมกรงที่ถูกเสือกัดแทบทุกวัน ตอนแรกมาแบบตื่นๆ วิ่งกันโฮกฮาก กระโจนตบกรง กัดกรงทุกวัน

 

 

วัดป่าหลวงตาบัว หรือวัดเสือ เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.กาญจนบุรี  มีการนำเสือโคร่งกว่า 100 ตัวออกมาให้บริการนักท่องเที่ยว กระทั่งปี 2557 มีการเผยแพร่ข้อมูลการลักลอบนำเสือออกจากวัด คาดว่าจะส่งขายต่างประเทศ ต่อมาปี 2559 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติการย้ายเสือออกจากวัดล็อตแรก 10 ตัว จากนั้นย้ายเสือ 137 ตัว ใช้เวลา 6 วัน ไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี 62 ตัว โดยระหว่างตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบลูกเสือโคร่งแช่แข็ง กว่า 40 ซาก และเสือโคร่งถูกดองในขวดโหลจำนวนมาก

 

 

แม้สัตว์ป่าของกลาง จะมีความเป็นอยู่ที่ดี และอาหารเพียงพอ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดอย่างน้อย 5 ปี จนกว่าจะสิ้นสุดคดี บางส่วนถูกส่งกลับคืนประเทศต้นทาง บางส่วนไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ รัฐต้องดูแลจนกว่าสัตว์เหล่านั้นจะตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

วิกฤต "ไซเตส" จับตาฟาร์มเสือไทยแหล่งค้า

ทำอย่างไร? เมื่อไทยยังเป็นทางผ่านค้าสัตว์ป่า 

เบื้องหลังล่อซื้อ "ลิงอุรังอุตัง" มนุษย์ล่า-สัตว์ป่าติดคุก 

“ชีวิตแลกเงิน” วิกฤตอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง