นักวิชาการชี้สร้าง "ทางด่วนใต้ดิน" ไม่คุ้มทุน-ไม่แก้ปัญหาจราจร

สังคม
11 ต.ค. 61
17:21
833
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้สร้าง "ทางด่วนใต้ดิน" ไม่คุ้มทุน-ไม่แก้ปัญหาจราจร
สนข.พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างถนนใต้ดินในลักษณะของอุโมงค์ ซึ่งอาจจะเป็นทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกในประเทศไทย หลังนักวิชาการชี้อาจไม่คุ้มทุนและอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรในระยะยาว

วันนี้ (11 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปหามาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แบบเร่งด่วน เบื้องต้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างถนนใต้ดินในลักษณะของอุโมงค์ ซึ่งอาจจะเป็นทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันถนนบนพื้นราบและถนนยกระดับใน กทม.ได้สร้างขยายเกือบเต็มพื้นที่แล้ว

สำหรับเส้นทางจะเริ่มจากบริเวณถนนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึง อ.สำโรง จ.สมุทปราการ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เนื่องจากเส้นทางมีลักษณะเป็นเส้นทางตรง ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างนั้นอยู่ระหว่างการประเมิน เนื่องจากงานก่อสร้างถนนใต้ดินพบว่ามีต้นทุนก่อสร้างสูง

ทั้งนี้ หากมีการสร้างทางด่วนใต้ดินดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกทม. ได้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ สาทร สีลม บางรัก พระราม 4 เป็นต้น เพราะสามารถระบายรถจากกทม. ออกไปยังสมุทรปราการได้เร็ว และยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทางด่วนบางนานได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สนข. ได้ทำการศึกษาถนนใต้ดินต้นแบบจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างคือ ถนนใต้ดินย่านชินจูกุ ของประเทศญี่ปุ่น, เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มาเลเซียและออสเตรเลีย เป็นต้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวยังเป็นแค่แนวคิดในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งต้องมีการศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะกรุงเทพมีปัญหาดินอ่อน หากขุดอุโมงค์จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและต้องใช้ค่าก่อสร้างที่สูงมาก ดังนั้นคงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้แน่นอน

ด้านสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะระยะทางเพียง 9 กิโลเมตร อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรในระยะยาว ขณะเดียวกันมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ที่จะต้องเร่งก่อสร้างในขณะนี้ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางอยู่ ซึ่ง สิ่งที่ สนข.ควรเร่งแก้ปัญหาขณะนี้คือการบริหารจัดการ และการควบคุมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในะระยะยาว

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับโครงการทางด่วนลอดใต้ดิน ตามหลักเทคนิคสามารถทำได้ แต่เหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนสูง และยังส่งเสริมให้ประชาชนในเขตเมืองชั้นในใช้รถยนต์ส่วนบุคคลขัดกับแนวทางการลดปริมาณจราจรและส่งเสริมให้ใช้ระบบรถสาธารณะของรัฐบาล ขณะเดียวกันมองว่า รัฐบาลควรลงทุนสร้างโครงการโมโนเรลวิ่งเหนือคลองในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าค่าก่อสร้างทางด่วนใต้ดินและรถไฟฟ้าอื่นๆ

ด้านแหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กล่าวว่าการก่อสร้างทางด่วนใต้ดินนั้นเป็นไปได้ยากมากเพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ราคาแพงและต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งยังติดปัญหาด้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากต้องขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองซึ่งจะรองรับฝุ่นละอองและควันพิษจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงยังมีงานเทคนิคที่ยุ่งยากกว่าการลงทุนระบบรถไฟฟ้ามากกว่าอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง