ห่วง "สัตว์ป่าพะเนินทุ่ง" เสี่ยงถูกรถชนตายเพิ่ม แนะปรับปรุงทางขึ้นบางจุด

สิ่งแวดล้อม
19 ต.ค. 61
15:01
400
Logo Thai PBS
ห่วง "สัตว์ป่าพะเนินทุ่ง" เสี่ยงถูกรถชนตายเพิ่ม แนะปรับปรุงทางขึ้นบางจุด
นักเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ คัดค้านโครงการปรับปรุงเส้นทางถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ตลอดทั้งเส้นทาง พร้อมเสนอซ่อมแซมจุดเสียหายหนักเท่านั้น หวั่นสัตว์ป่าเสี่ยงถูกรถชนตาย จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์และนักอนุรักษ์ เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างถนนคอนกรีตขึ้นพะเนินทุ่ง แม้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะออกมาระบุว่าการปรับปรุงถนนครั้งนี้ช่วยให้เกิดความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการเข้าลาดตระเวนพื้นที่ แต่หลายฝ่ายกังวลว่าเป็นการรบกวนสัตว์ป่า รวมทั้งเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าถูกรถชนตาย

 

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเส้นทางขึ้นเขาพะเนินทุ่งให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสาย ก่อนหน้านี้เคยขับรถขึ้นพะเนินทุ่ง ระยะทางจากบ้านกร่าง 20 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง และพบสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิด เช่น เสือดำ เสือดาว เก้ง ค่างแว่น สะท้อนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์ป่าจำนวนมาก

ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่่ยวและผู้ที่ต้องการศึกษาธรรมชาติ ให้ความสนใจขึ้นมาชมธรรมชาติ และชมวิวทะเลหมอกที่พะเนินทุ่ง แต่การสัญจรที่ยากลำบาก สภาพไหล่ทางชำรุดและทางแคบจนรถไม่สามารถสวนกันได้ ช่วยจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง เพราะต้องใช้ความระมัดระวังในการสัญจร ต้องใช้รถโฟวิล หรือรถกระบะเท่านั้น

 

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

แม้กรมอุทยานจะระบุว่ามีมาตรการลดผลกระทบดังกล่าว ทั้งการจำกัดความเร็วของการขับขี่ การควบคุมปริมาณรถที่สัญจร แต่ นพ.รังสฤษฎ์ ยังไม่มั่นใจถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งการปรับปรุงถนนขึ้นพะเนินทุ่งจะเพิ่มความสะดวกในการสัญจรและรถทำความเร็วได้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีสัตว์จำนวนมากถูกรถชนตาย โดยเสนอให้อุทยานปรับปรุงถนนเฉพาะจุดที่เสียหายหนัก ไม่ต้องปรับปรุงตลอดเส้นทาง และทำระบบระบายน้ำในจุดที่เกิดน้ำกัดเซาะถนน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยลดงบประมาณการซ่อมแซม และจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้รบกวนสัตว์ป่ามากเกินไป



ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวิภาพเป็นอันดับ 1 พื้นที่อนุรักษ์นั้นสัตว์ป่าต้องสำคัญกว่าการนันทนาการของคน 

 

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้สังคมสนใจเรื่องผลกระทบต่อสัตว์ป่า เช่น จัดทำโปสเตอร์ที่นำเสนอข้อมูลสัตว์ที่ถูกรถชนตาย ซึ่งสถิติปี 2558 พบว่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ถูกรถชนตายมากถึงปีละ 2,923 ตัว โดยเฉพาะกบ เขียด รองลงมาเป็นเก้ง กวาง เสือ แมวดาว

 

 

สัตว์โดนรถชนตายในเขตอนุรักษ์เป็นเรื่องใหญ่ โครงการรัฐเขาไม่ได้แจ้งเราก่อน รู้ตอนเริ่มทำไปแล้ว  เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ ผมไม่อยากให้อยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน อยากให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในวงกว้าง เพราะนี่คือมรดกธรรมชาติอันหวงแหนของพวกเราทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง