เปิดอาณาจักรแสนล้าน "คิง เพาเวอร์"

เศรษฐกิจ
28 ต.ค. 61
18:43
37,227
Logo Thai PBS
เปิดอาณาจักรแสนล้าน "คิง เพาเวอร์"
วิชัย ศรีวัฒนประภา นับเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับ 5 ของประเทศ โดยเป็นเจ้าของอาณาจักรกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ กรุ๊ป ที่มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท และเป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีที่ได้สัมปทานเพียงรายเดียวทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินต่างๆ

ชื่อของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท "คิง เพาเวอร์" ติดโผอันดับ 5 ของบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศ จากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บ เมื่อเดือน พ.ค.2561 ด้วยทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 165,000 ล้านบาท

จากธุรกิจที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำหลักๆ คือร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งกระจายตัวคลอบคลุมอยู่ทั้งย่านใจกลางเมืองและสนามบินหลักๆ ทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีกิจการอื่นภายใต้บริษัทในเครือ 6 บริษัท ที่ล้วนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีก เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบปีที่ 29 ของอาณาจักรแห่งนี้และก้าวสู่ขึ้นปีที่ 30


หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์อาณาจักรคิง เพาเวอร์ เริ่มจากการจัดตั้งบริษัทเจ เอ็มที กรุ๊ป จำกัด ได้ใบอนุญาตร้านค้าปลอดภาษีแห่งแรก อาคารมหาทุนพลาซ่า ต่อมาจึงได้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีสนามบินดอนเมือง ก่อนสยายปีกไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

ในช่วงต้นก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นายวิชัยในวันนั้นที่ยังใช้นามสกุล "รักศรีอักษร" เคยให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจในต่างประเทศของเขา ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ อาณาจักรแห่งนี้ก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากร้านค้าปลอดภาษีเพียงแห่งเดียวในประเทศที่สนามบินดอนเมือง ก็ได้สัมปทานเพิ่มเติมที่เซ็นทรัลเวิลด์ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต

แต่จุดเปลี่ยนให้เขาขยับเป็นมหาเศรษฐี ตามคำจำกัดความของนิตยสารฟอร์บ คือปี 2549 ที่คิง เพาเวอร์ ได้สัมปทานพื้นที่ในสุวรรณภูมิและการก่อตั้งคิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ ที่ซอยรางน้ำ ซึ่งได้รับประโยชน์เต็มจากการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักจากประเทศจีน

ในช่วงหลัง กลุ่มคิง เพาเวอร์ เน้นการเปิดคอมเพล็กซ์ในจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อเป้าหมายการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกเทียบชั้นกลุ่มทุนใหญ่กลุ่มอื่นๆ แต่ความแตกต่างที่สำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจของกลุ่มคิง เพาเวอร์ คือการครอบครองตลาดที่ไร้คู่แข่ง

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีอาร์ไอ ได้ศึกษาการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี หรือสินค้าปลอดภาษีของสนามบินระดับท็อปเท็นและทั่วโลก พบว่าการให้สัมปทานจะไม่ให้เพียงรายเดียว แต่จะให้หลายราย เช่น โตเกียว 6 ราย เกาหลีใต้ 12 ราย โดยแบ่งตามพื้นที่ หรือประเภทสินค้า เช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ เพราะหากประมูลรวมทั้งหมดและให้เพียงรายเดียวจะไม่เกิดการแข่งขันและรายได้สนามบินจะต่ำ

อัตรามาร์จินในการประมูลแบบเหมารวมทุกอย่างมันต่ำ สนามบินทั่วโลกเขาไม่ทำกัน ซึ่งดิฉันก็คัดค้านมาตลอดว่า วิธีการนี้มันไม่เกิดประโยชน์ และเป็นเหตุผลว่าทำไมรายได้ของสุวรรณภูมิอยู่ที่ 17 % ขณะที่สนามบินทั่วโลกเขาอยู่ที่ 40 %

 

แตกต่างจากการทำธุรกิจที่มักเป็นรายเดียวในพื้นที่ แต่ในวงสังคมรู้จักเขาในฐานะ "เจ้าพ่อคอนเนกชันภาคธุรกิจ" สะท้อนได้จากล่าสุดที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ สามารถรวบรวมพันธมิตรเพื่อมาลงขันซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก วงเงิน 1,400 ล้านบาท มาให้คนไทยได้ชมฟรี ภายใต้การทำงานร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือการร่วมบริจาคการกุศลในรายการสำคัญต่างๆ

นอกจากนี้ เขายังมีความสนิทสนมกับ "เนวิน ชิดชอบ" ตั้งแต่ครั้งเป็นนักการเมือง จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นการปรากฎกายของ "เนวิน" เป็นคนแรกที่โรงแรมพูลแมน ในวันนี้ (28 ต.ค.2561) หลังข่าวอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเพียงไม่นาน


รายงานโดย ปรัชญ์อร ประหยัดทรัพย์ @Thip_Thaipbs 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง