Insight : วิกฤตหมึกเมียนมาตีตลาดไทย

เศรษฐกิจ
2 พ.ย. 61
16:46
1,636
Logo Thai PBS
Insight : วิกฤตหมึกเมียนมาตีตลาดไทย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องหารือแก้ปัญหาอาหารทะเลไทยล้นตลาดและราคาตกต่ำในวันที่ 5 พ.ย.นี้ หลังจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแทน

ในปัจจุบันหากไปเลือกซื้อหาอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือนั่งทานตามร้านอาหาร อาจไม่รู้เลยว่าสินค้าตรงหน้าเป็นของนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นหมึกกล้วย หอยแครง ปลาเก๋า และราคายังคงแพงเป็นปกติ

แต่ทำไมถึงมีข่าวว่าอาหารทะเลไทยล้นตลาดและราคาตกต่ำ?

สำหรับสัตว์ทะเลที่จับได้ทั้งจากอ่าวไทยและอันดามันรวมกันแล้วประมาณ 1,400,000 ตัน ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ ส่วนหนึ่งส่งเข้าโรงงานแปรรูปแล้วส่งออกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

แต่ระยะหลังมีการนำเข้าสัตว์ทะเลจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศ เน้นนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออก แต่จำนวนหนึ่งที่ปะปนมากับสินค้าบริโภค ทำให้อาหารทะเลที่เคยพอดีกับการบริโภคเริ่มล้นตลาด

ส่วนตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือหมึกกล้วย ประมงไทยจับมาได้ 250,000 ตัน แต่กลับมีการนำเข้าจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย เยเมน เมียนมา เวียดนาม อีก 150,000 ตัน ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้นำเข้ากว่า 80,000 ตัน

ผลที่ตามมา คือราคาหมึกกล้วย จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 120-130 บาท ร่วงลงมากกว่าครึ่ง เหลือเพียงกิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาดกลางอาหารทะเล แต่ไม่ใช่แค่หมึกกล้วยเท่านั้น แต่สัตว์ทะเลหลายชนิดเจอปัญหาทำนองเดียวกัน

สาเหตุที่ต้องนำเข้าสัตว์ทะเลจำนวนมาก จนทำให้สินค้าประมงไทยมีปัญหา เนื่องจากในปี 2557 ประเทศไทยติดใบเหลือง ประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เสี่ยงจะไม่สามารถส่งออกไปยุโรปได้ ทำให้ช่วงต่อมารัฐบาลเร่งแก้ไข และเรือประมงหายไปจำนวนมาก

ระหว่างปี 2558-2559 สัตว์ทะเลจับได้น้อยลง ราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการอาหารทะเลเรียกร้องให้มีการนำเข้าเพราะสินค้าไทยแพง การนำเข้าจึงถูกกว่ามาก ผนวกกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับหลายประเทศที่ลดภาษี ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่ามาก

ทั้งนี้ ประกาศของกรมประมง เมื่อเดือนเมษายน 2560 เปิดทางให้นำเข้าสินค้าประมงได้ ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการหันไปนำเข้าล็อตใหญ่ สินค้าประมงไทยขายไม่ได้ และถูกกดดันราคาจนตกต่ำลงต่อเนื่อง

นอกจากราคาถูกกว่าสินค้าไทยแล้ว สมาคมการประมงฯ เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวอาจมาจากความไม่สะดวกที่แตกต่างกัน การทำเอกสารรับรองสินค้านำเข้ามาเพื่อแปรรูปแล้วส่งออกไปประเทศที่ 3 ใช้เอกสารไม่กี่ฉบับ

แต่หากใช้วัตถุดิบสินค้าประมงไทย ตามมาตรการแก้ IUU Fishing ต้องมีเอกสารกำกับตั้งแต่ในเรือ ท่าเรือ ตลาด ขนส่ง และหากมี 100 ราย เอกสารก็ต้องมี 100 ชุด หากตกหล่นสินค้าเสี่ยงถูกตีกลับ ความยุ่งยากนี้ยิ่งทำให้หันไปใช้วัตถุดิบนำเข้ามากขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่ข้อเรียกร้องฝ่ายประมงที่ต้องการให้ลดปริมาณนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศ และปลดล็อกความไม่สะดวกด้านเอกสาร

แม้ไทยพยายามยกระดับให้มีมาตรฐานที่ยุโรปยอมรับ แต่อาจเคร่งครัดเกินไป จนกลายเป็นปัญหาสินค้าประมงแทน

ส่วนการจำกัดนำเข้าสินค้าประมง หากเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานดี ราคาถูกกว่าสินค้าไทย ในระบบแฟร์เทรด อาจปิดกั้นได้ยาก แต่หากเป็นสินค้าจากประเทศที่ขึ้นบัญชีการทำประมงผิดกฎหมายเหมือนกัน ก็ควรต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้นำเข้ามาได้

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมประมงต้องปรับตัวอย่างมาก หากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อทำตามหลักเกณฑ์สากล ก็อาจต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย และลดต้นทุนอื่นลง ถ้าเป็นไปได้ควรรวมกลุ่มรวมทุน พัฒนาการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อลดการพึ่งพารายใหญ่

ทั้งนี้ วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐ-เอกชน มาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรัฐมีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ

ถ้าปล่อยนานไป ผู้ประกอบการส่งออกยังคงต้องการของถูกและดี แม้มาจากต่างประเทศ ที่สำคัญประการหนึ่งคือประมงต้องพัฒนาให้แข่งขันได้

ถ้าไม่ทำอะไรเลย อาจยากเกินแก้ไข

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง