ทึ่ง! ครูพิการทางสายตา ปรับตัวสอนนักเรียนตาดี

สังคม
6 พ.ย. 61
18:22
4,279
Logo Thai PBS
ทึ่ง! ครูพิการทางสายตา ปรับตัวสอนนักเรียนตาดี
ถ้ายืนอยู่นอกห้องเรียน โดยไม่มองเข้าไป ไม่มีใครรู้ว่า "ครูไอซ์" ดำเกิง มุ่งธัญญา ที่ยืนสอนวิชาภาษาอังกฤษ ให้กับนักเรียน คือผู้พิการทางสายตา การเป็นครูของดำเกิง ไม่ง่ายเหมือนคนสายตาปกติ เขาต้องทำหลายขั้นตอน กว่าจะนำความรู้มาให้เด็กๆ ที่หน้าชั้นเรียน
ส่วนใหญ่เด็กจะถามว่า ครู ทำไมครูมองไม่เห็นแล้วครูเรียนจบได้ ซึ่งผมก็บอกนักเรียนตลอดว่า จริงๆ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าเรามองเห็นหรือมองไม่เห็น มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราตั้งใจที่จะทำอะไร แล้วเราทำมันเต็มที่หรือเปล่า

ตั้งแต่ไปเรียนร่วม ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ดำเกิง มุ่งธัญญา หรือ ครูไอซ์ มีโอกาสสอนรุ่นน้อง ที่พิการทางสายตาเหมือนกัน ตอนนั้นที่น้องบอกกับเราว่า เข้าใจในสิ่งที่เราสอน ก็รู้สึกว่ามีความสุขมาก จนทำให้เราตัดสินใจ เลือกเรียนคณะครุศาสตร์


เส้นทางความฝันในอาชีพครูของครูไอซ์ เริ่มต้นขึ้นด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมองไม่เห็น แต่ระหว่างเรียนครูไอซ์ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะโครงการค่ายอยากเป็นครู ที่มีโอกาสได้แนะแนวให้รุ่นน้อง มีแรงบันดาลใจ และกล้าที่จะเดินตามฝัน

หลังจากนั้น มีโอกาสได้เป็นนิสิตฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เมื่อเรียนจบ สอบบรรจุเป็นคุณครูในภาควิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยได้


อาชีพครูไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นครูที่มองไม่เห็นนั้นยากยิ่งกว่า แต่กับครูไอซ์แล้ว เขากลับคิดว่าตัวเองเป็นครูที่ไม่แตกต่างจากครูปกติทั่วไปเลย

เช้าวันธรรมดาครูไอซ์มาถึงโรงเรียนในเวลา 07.00 น. เพื่อเตรียมเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอน ก่อนจะลงไปคุมแถว และเข้าโฮมรูมพูดคุยกับเด็กประจำชั้น อุปกรณ์พกพาอย่างไมโครโฟนคู่ใจ คล้องคอครูไอซ์อยู่เสมอ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนที่ ขณะที่มือทั้ง 2 ข้าง ถือกระดาษเนื้อหาพร้อมลูบอักษรเบรลล์ เพื่อเข้าสู่บทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ กลายเป็นภาพที่ทุกคนชินตา

ครูในโลกมืดกับความทุ่มเท 2 เท่า

วีณา รัตนสุมาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ระบุว่า ตอนแรกคุณครูดำเกิงมาฝึกสอนที่โรงเรียน ก็ได้ดูการสอนและพบว่า ทำได้ดี เป็นคนที่มีความขยันขันแข็งมาก มีความรับผิดชอบดี มีการเตรียมการสอนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก่อนเข้าห้องสอนจะผลิตสื่อนวัตกรรมล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และคุณครูจัดทำขึ้นเอง เมื่อได้รับประสบการณ์จากการฝึกสอน ครูดำเกิงก็ตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะรับราชการและสามารถสอบบรรจุได้


เรายอมรับความสามารถของเขา เคยไปนั่งดูการสอนของคุณครูไอซ์ใช้พาวเวอร์พอยต์ได้ดี และพูดได้ตรงกับพาวเวอร์พอยต์มาก จนนักเรียนก็แปลกใจว่าคุณครูรู้ว่าเพาเวอร์พอยต์ขึ้นสไลด์ไหน ทำให้รู้สึกประทับใจในความมุ่งมั่น ที่ต้องทำงานหนักกว่าครูปกติ 2-3 เท่า ซึ่งเขาก็ทำได้ดีค่ะ

อักษรเบรลล์สู่เพาเวอร์พอยต์สื่อการเรียนรู้ครูอัจฉริยะ

ช่วงเวลาว่าง สิ่งที่ครูไอซ์ทำเป็นประจำ คือ การอัดเสียงนักเรียนไว้ โดยให้นักเรียนพูดแนะนำตัวเอง เพื่อเอาไปฟังและจำเสียงเด็กแต่ละคนให้ได้ อีกภารกิจสำคัญ คือ การตรวจการบ้านเด็กและเตรียมการสอน คุณครูหนุ่มเล่าว่า ส่วนใหญ่เสาร์-อาทิตย์จะเตรียมเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นโดยเฉพาะช่วงปิดเทอม เนื่องจากว่ามีเวลามาก และเป็นคนไม่ชอบเตรียมตัวในเวลากระชั้นชิดจนเกินไป เพราะคิดว่างานที่ได้ออกมานั้นมันจะไม่ดี

ผมเขียนกระดานไม่ได้ ผมก็ต้องทำเนื้อหาใส่พาวเวอร์พอยต์ บางทีก็มีคลิปวิดีโอ รูปภาพ เพราะว่าถ้ามีแค่ตัวหนังสืออย่างเดียว เด็กไม่เรียนแน่ หลับครับ


ครูไอซ์เปลี่ยนการเขียนบนกระดานมาเป็นการนำเสนอเนื้อหาผ่านพาวเวอร์พอยต์ โดยหากเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ไว้แล้ว ก็สามารถนำมาวางแผนการสอนได้ทันที และจดคำถามเพิ่มเติมเล็กน้อย  แต่ถ้าหนังสือแบบเรียนเล่มไหนไม่มีอักษรเบรลล์ก็จะใช้วิธีการสแกนหนังสือเข้าคอมพิวเตอร์ เมื่อสแกนออกมาเป็นรูป ก็จะใช้โปรแกรมแปลงให้เป็นตัวอักษรปกติ แล้วใช้โปรแกรมอ่านจอภาพ เพื่อจดประเด็นสำคัญที่ใช้สอนในห้อง ก่อนจะใช้เครื่องพิมพ์ดีดเบรลล์ แปลงเนื้อหาเพื่อนำไปทำขึ้นเพาเวอร์พอยต์ส่วนการตรวจการบ้านก็จะให้นักเรียนส่งอีเมลหรือเฟซบุ๊กแล้วใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ อ่านจอภาพแล้วตอบกลับไปตามช่องทางโซเชียล

สอน "ภาษาอังกฤษ" นักเรียนต้องสื่อสารได้จริง

ใน 1 คาบเรียน ครูไอซ์ทุ่มเทเวลาเพื่อค้นหาเนื้อหาและคิดกิจกรรมสำหรับเด็กทุกคนในห้อง  ถ้าถามว่าเนื้อหามาจากไหน ส่วนหนึ่งครูไอซ์นำมาจากหนังสือแบบเรียนและส่วนอินเทอร์เน็ต เพื่อพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนให้ใกล้เคียงกับชีวิตมากที่สุด

อย่าลืมว่าเราเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้สื่อสารได้ ก็เลยพยายามเอาเนื้อหาที่สอนให้มันใกล้เคียงกับชีวิตเขาให้มากที่สุด ต้องดึงดูดเขาให้ได้ และเราต้องเข้าใจว่า ภาษาอังกฤษ บางทีเด็กคนเดียวไม่กล้าตอบ เราก็เริ่มจากเป็นทีมก่อน ให้เขากล้าขึ้นเรื่อยๆ


ครูไอซ์ย้ำว่า สิ่งสำคัญในการสอน คือ ต้องให้นักเรียนหาตัวเองให้เจอ ว่าต้องการทำอะไรในอนาคต ไม่อย่างนั้นเขาจะมาเรียนโดยที่ไม่มีเป้าหมาย เรียนภาษาอังกฤษไปทำไม ในคาบแรกๆ จึงมีกิจกรรมให้ค้นหาตัวเองว่าแต่ละคนชอบอะไร เรียนไปเพื่ออะไร ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

ให้เขาตั้งเป้าหมายไว้เลย อย่างเทอมนี้ผมให้เขาเขียน 3 ข้อที่จะทำให้มันดีขึ้นจากเทอมที่แล้ว เพราะว่าคนเราถ้าไม่มีเป้าหมาย มันก็เหมือนแค่ทำอะไรไปวันๆ ทำๆ แล้วก็เลิก ผมเลยพยายามให้เด็กได้ค้นคว้ามากกว่าเดิม มากกว่าการทำแค่แบบฝึกหัดแล้วก็เฉลย มันจะต้องมีงานที่ต้องให้เขาได้รู้จักคิด 

ครูทำได้ หนูก็ต้องทำให้ได้

ด.ญ.ภัทรภร ย้อยแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ตอนแรกก็ยังงงๆ ว่าครูจะสอนได้อย่างไร ไม่รู้ว่าครูจะใช้วิธีอะไรสอน แต่เมื่อเจอตัวจริง ครูสอนเข้าใจกว่าการสอนแบบธรรมดา


ครูเขาหาเทคนิคมาให้จำเยอะมาก คำศัพท์ถ้าคำไหนที่ใกล้เคียงกัน ครูก็จะคอยบอก แยกว่าแบบไหนเป็นแบบไหน และทำออกมาเป็นพาวเวอร์พอยต์บางครั้งครูก็จะเอาวิดีโอมาให้ดู คือ สำหรับหนู ครูเป็นแรงบันดาลใจ ครูมองไม่เห็น แต่ครูก็เรียนได้ขนาดนี้ หนูก็ต้องทำตามให้ได้


ครูไอซ์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสว่า การเป็นครูสำหรับคนที่มองไม่เห็นนั้นเป็นเรื่องที่เหนื่อยไม่น้อยเลย แต่เวลาตรวจงานเสร็จแล้วเด็กเข้าใจแล้วเดินเข้ามาหา

รู้สึกดีใจมากเวลานักเรียนมาบอกว่า เรียนกับครูแล้วรู้สึกว่าเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าความเหนื่อยของเรามันคุ้มนะ สิ่งที่เราทำไปมันไม่ได้สูญเปล่าเลย


"ผมไม่ได้อยากแค่ถ่ายทอดเนื้อหา ผมอยากถ่ายทอดหลายอย่าง อยากให้เด็กไทยสร้างสังคมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ให้นักเรียนของผมเป็นเด็กที่มีทักษะ ไม่ใช่มีแค่ความรู้ ทำให้นักเรียนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีระบบ มีความคิดที่สามารถเอาไปพัฒนาคนอื่นต่อไปได้ในอนาคต"

สิ่งที่ครูไอซ์กำลังทำวันนี้ ไม่ใช่เพียงครูสอนภาษาอังกฤษคนหนึ่ง แต่ยังเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนว่า "หากลงมือทำ ไม่มีสิ่งใดที่จะเกินความพยายามของเรา"

 

วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง