ป.ป.ช.เดินหน้าเก็บภาษี ยกเว้น "พระสังฆราช"

สังคม
12 พ.ย. 61
10:03
297
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.เดินหน้าเก็บภาษี ยกเว้น "พระสังฆราช"
ป.ป.ช.มีมติยื่นบัญชีทรัพย์สิน สำหรับนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภา ยกเว้น สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ เนื่องจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์กำหนดรายละเอียดไว้แล้ว

วันนี้ (12 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยตำแหน่ง รวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ และพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปอื่นที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น โดยเจตนารมณ์ของประกาศ ป.ป.ช. ฉบับนี้ คือ การบังคับใช้กับฆราวาส 


ล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า คณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กำหนดรายละเอียดไว้แล้ว ส่วนพระเถระชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ ยังต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพยสิน

ขณะที่นายมานะ  นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า ยอมรับว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ก็ปรากฏในข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า มีบางมหาวิทยาลัยที่มีการทุจริต เกื้อหนุน เกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย


โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน ตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมาย สร้างมาตรการมากมายมาควบคุม ส่งผลให้คนดีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งเห็นว่าประกาศของ ป.ป.ช. ชุดนี้ เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. ต้องทำ และ ป.ป.ช.ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น คงต้องมาพิจารณาถึงข้อกังวลของแต่ละคนว่าคืออะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้

ความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีก็จะสูญเปล่า ประชาชนจะเริ่มคิดว่าชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พอถึงเวลาไม่ชอบก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว 

ขณะนี้ มีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน แต่เมื่อมีประกาศ ป.ป.ช. ใหม่ ทำให้มีผู้ต้องยื่นบัญชีเพิ่มอีก 3,000 คน รวมถึงองค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเอกชน เป็นพ่อค้า หรือนักวิชาการด้วย แต่ขณะนี้มีเสียงโต้แย้งเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 ท่าน ดังนั้น จึงอยากให้ทางกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือ เดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ ว่าใครติดขัด ไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งอาจเพราะวิธีการ หรือมีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป กรรมการ ป.ป.ช.จะได้รับทราบและแก้ไขทันที



ข่าวที่เกี่ยวข้อง