"ไบโอไทย" หนุนปกป้องสิทธิบัตรกัญชา

สังคม
13 พ.ย. 61
10:02
1,220
Logo Thai PBS
"ไบโอไทย" หนุนปกป้องสิทธิบัตรกัญชา
"ไบโอไทย" แนะประชาชนตั้ง 3 คำถาม "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ปล่อยผ่านคำขอยื่นสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ หวั่นไทยเสียสิทธิ ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลนัดรวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 พ.ย.นี้

วันนี้ (13 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวในประเด็นการปลดล็อกให้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และทำให้กลุ่มนักวิชาการกังวลถึงปัญหาการถูกต่างชาติจดสิทธิบัตรกัญชาทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ

โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก Akradej Chakjinda ได้โพสต์เฟชบุ๊ก ระบุว่า จะะไปสูบกัญชาหน้าทำเนียบรัฐบาล ใครสนใจจะไปกัญ...บ้าง อังคาร 20 พฤศจิกายน 2561เวลา 10.00 น. เจอกันครับ ณ.ทำเนียบรัฐบาล #เราคือเพื่อนกัญ

สำหรับนายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เป็นหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งไม่เห็นด้วยการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 

 

 

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสิทธิบัตรกัญชาว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงวันนี้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรกัญชา โดยที่มีการปล่อยให้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรกัญชา ทั้งๆที่ขาดความใหม่ เพราะมาจากความรู้จากท้องถิ่น ละเมิดข้อห้ามในกฎหมายสิทธิบัตรของไทยเองที่ห้ามมิให้จดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช ตลอดจนการละเลยไม่คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศ ทั้งๆที่เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน

สิ่งที่ประชาชนควรตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามี 3 ระดับคือ

1) ปัญหาแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ทำไมจึงอนุญาตให้มีการเดินหน้าคำขอสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากพืช ซึ่งขัดมาตรา 9(1) ที่ระบุว่าจุลชีพ และส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์ เนื่องจาก cannabinoid เป็นสารสกัดจากพืช เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้มีการอ้างสิทธิบัตรจากสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคโรคลมบ้าหมู ทั้งที่ผิดมาตรา 9 เพราะเป็นความรู้แพทย์แผนไทยโบราณ เป็นต้น


2) ปัญหาการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศภายใต้สนธิสัญญา PCT โดยนอกเหนือจากการยื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้วนั้น ยังมีในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งมีจำนวนหนึ่งผ่าน PCT หรือสนธิสัญญาความคุ้มครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้จนประสบผลสำเร็จ โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบคำขอสิทธิบัตร PCT จากต่างประเทศมากถึง 28,518 สิทธิบัตร แต่มีคำขอสิทธิบัตรจากประเทศไทยไปต่างประเทศเพียง 447 สิทธิบัตร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2559) เท่านั้น

หน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความจำเป็นต้องใช้บทบาทของตนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีใน PCT โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบคัดค้านคำขอสิทธิบัตรในต่างประเทศเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศด้วย โดยเฉพาะในกรณีคำขอสิทธิบัตรนั้นนำเอาทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยไปจดสิทธิบัตร ทั้งในกรณีกระท่อมและกัญชา เนื่องจากหากคำขอสิทธิบัตรนั้นมีผลจะทำให้เป็นการขัดขวางการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ของประเทศในต่างประเทศในระยะยาวด้วย

 

 

แนะแก้กฎหมายสิทธิบัตร

3) ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในข้อ 1 และ 2 คือความจำเป็นในการแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทย ให้คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเอง ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันกรณีโจรสลัดชีวภาพ และสร้างกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันในกฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ จีน ฯลฯ เป็นต้นมีการระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวอย่างชัดเจน ส่วนในหลายประเทศก็มีข้อกำหนดดังกล่าวในกฎหมายอื่น ซึ่งจะมีผลต่อกฎหมายสิทธิบัตร เป็นต้น


รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมาจากการวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศคือความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่แทนที่เราจะเห็นการส่งเสริมเงื่อนไขให้มีการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการปกป้องและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่สิ่งที่เราเห็นในทางปฏิบัติคือการใช้วาทกรรมสวยหรูแต่เนื้อหาที่แท้จริงคือการบ้าการลงทุนจากต่างชาติ และเอื้ออำนวยอุตสาหกรรมจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ มิได้วางรากฐานให้มีการพัฒนาความเข้มแข็งของคนในประเทศ มิหนำซ้ำยังทำลายการวิจัยและพัฒนาโดยกระบวนการมอบสิทธิบัตรที่ไม่ชอบแก่บริษัทยาและสถาบันวิจัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมทรัพย์สินฯ ชี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ "สารสกัดจากกัญชา" 

ใครยื่นขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาบ้าง? 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง