ไม่รับที่ดินแปลงรวม หวั่นทำลายวิถี “กะเหรี่ยง”

สิ่งแวดล้อม
14 พ.ย. 61
10:17
805
Logo Thai PBS
ไม่รับที่ดินแปลงรวม หวั่นทำลายวิถี “กะเหรี่ยง”
พ่อหลวงกะเหรี่ยงบ้านกลางชี้เงื่อนไขการใช้ที่ดินแปลงใหญ่ ไม่ตอบสนองวิถีชีวิตคนบนดอย เหตุเพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 และลาดชันเกินเกณฑ์กำหนด ห่วงถูกฮุบที่ดินทำกิน

“จิตวิญญาณ” คำนามธรรมที่อาจถูกมองว่าเป็นข้ออ้างที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน เช่นเดียวกับกรณี “บ้านกลาง” ชุมชนกะเหรี่ยง 200 ปีที่อาศัยอยู่ใน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่เรียกร้องสิทธิ “พื้นที่จิตวิญญาณ” ของคนกะเหรี่ยง ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐที่จะประกาศพื้นที่เขตอุทยานถ้ำผาไทและข้อเสนอที่ดินแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล

การลงพื้นที่บ้านกลางทำให้คำนามธรรมอย่าง “จิตวิญญาณ” ชัดเจนขึ้นและไม่ใช่เพียงข้ออ้างที่เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน แต่จิตวิญญาณคือวิถีชีวิตที่ผูกกับทรัพยากร ทั้งที่ดิน ที่อยู่ เกษตร รายได้และพิธีกรรม เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไป ชีวิตของคนกะเหรี่ยงจะไม่เหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้

“คน” พยายามรักษาป่า

การยืนยันความมีอยู่ของกะเหรี่ยงบ้านกลาง มีหลักฐานชัดเจน อาทิ บัตรประชาชนของผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ระบุปี 2495 และใบรับแจ้งความประสงค์สิทธิใช้ที่ดินปี 2519 เพื่อขอออกเอกสารสิทธิ นส.3 ไม่นับรวมอนุสาวรีย์คริสตจักรกะเหรี่ยงปี 2425 เอกสารและหลักฐานเหล่านี้สะท้อนความมีอยู่ของกะเหรี่ยงบ้านกลางมาแต่ต้น

ข้อพิพาทที่ดินเริ่มขึ้นเมื่อปี 2529 อุทยานเตรียมประกาศเขตอุทยานถ้ำผาไท 2.1 หมื่นไร่และปี 2534 เตรียมประกาศเพิ่ม 7.4 แสนไร่ ส่งผลกระทบชุมชน 51 แห่งที่อยู่ในพื้นที่และเสียงคัดค้านจากชุมชนดั้งเดิมที่สิทธิในการใช้ที่ดินจะสูญเสียไป

แม้ปี 2553 ครม.จะมีมติเรื่องแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและเขตวัฒนธรรมพิเศษที่มีสิทธิในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แต่ในทางปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง

นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงบ้านกลาง ลำดับความพยายามของกะเหรี่ยงในการปกป้องผืนป่า ทั้งการทำแนวกันไฟ การจัดตั้งกองทุนหน่อไม้เพื่อนำเงินสนับสนุนการป้องกันไฟ รวมถึงการขับไล่นายทุนจากพื้นที่ แต่ทั้งหมดนี้เมื่ออุทยานเข้ามา กลับมองไม่เห็นสิ่งที่ชุมชนได้ผลักดันตั้งแต่ต้น

เราดูแลตั้งแต่ต้น แต่ภาครัฐมองอีกด้าน ทำให้ความมั่นใจ ความจริงใจเราเสียไป
สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงบ้านกลาง

สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงบ้านกลาง

สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงบ้านกลาง

ทั้งนี้ “ไร่หมุนเวียน” ยังเป็นอคติของคนภายนอก โดยปี 2561 จึงเป็นปีแรกที่กะเหรี่ยงบ้านกลางจัดการลงทะเบียนชาวบ้านที่ใช้พื้นที่หมุนเวียนกว่า 2,000 ไร่ พร้อมกับกำหนดรหัสแปลงเพื่อระบุพื้นที่ของบุคคล เพื่อให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ดังลักษณะพื้นที่ที่แบ่งที่ดินใช้สอยทำไร่หมุนเวียน โดยหากใช้ 1 ปีจะต้องพักดินไว้ 4-5 ปี เพื่อการปรับสภาพของที่ดิน

การเข้ามาของ "ที่ดินแปลงใหญ่"

ความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินปรากฎชัดต่อเนื่องทุกรัฐบาล กระทั่งโครงการที่ดินแปลงใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในรัฐบาล คสช. ใช้หลักคิดการมอบกรรมสิทธิให้จังหวัดรับผิดชอบ และให้สิทธิชุมชนในการสร้างประโยชน์บนที่ดิน แต่ปัญหาส่วนใหญ่ติดกับเงื่อนไขการใช้พื้นที่ ที่ห้ามใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 และพื้นที่ลาดชันเกิน 35 องศา

“เราปฏิเสธ” เป็นคำตอบของกะเหรี่ยงบ้านกลางที่ไม่ยินดีเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชัน แม้ภาครัฐจะเสนอให้มีการใช้พื้นที่ 4,000 ไร่ในเขตชุมชน แต่กะเหรี่ยงบ้านกลางเห็นว่า วิถีชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไป เพราะวิถีชีวิตนั้นได้ผูกกับการรักษาและใช้ทรัพยากร เช่น ทำแนวกันไฟและหาหน่อไม้อยู่ในเขตพื้นที่ที่อุทยานเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยาน

ชุมชนเราไม่ทำพืชเชิงเดี่ยว แต่เลือกทำเกษตรหมุนเวียน เพื่อให้ที่ดินคุ้มครองเรา ถามว่าเราอยากได้เงินไหม เราอยากได้ แต่เราเลือกไม่ทำแบบนั้น เพราะไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน, ผู้ใหญ่สมชาติ กล่าว

 

จากข้อมูลการใช้พื้นที่บ้านกลาง พบว่า มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนประมาณ 2,000 ไร่ ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนปีละ 50 ไร่ พักไว้ 4-5 ปี จึงกลับมาทำใหม่ในที่เดิม ส่วนพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมทำแนวกันไฟและดูแลป่าครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 หมื่นไร่

ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงบ้านกลาง ระบุถึงสาเหตุที่ไม่รับหลักการที่ดินแปลงใหญ่ เพราะตามหลักเกณฑ์ของ คทช. ไม่อนุญาตใช้ที่ดินที่มีความชันเกิน 35 องศาและเป็นลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ซึ่งพื้นที่ป่าใช้สอยและไร่หมุนเวียนในพื้นที่จะติดเกณฑ์นี้ ทำให้เหลือพื้นที่ทำกิน 490 ไร่ จากพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้ขั้นตอนการอนุมัติใช้ที่ดินยังขึ้นกับการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัด หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าพื้นที่ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ป่า ชุมชนก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้คุ้มครองเรา คนอนุมัติคือผู้ว่าฯ ถ้ามองว่าเป็นป่า ก็ไม่เซ็นอนุมัติเรา

ดังนั้น ชุมชนบ้านกลางจึงเรียกร้องภาครัฐให้ยึคมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมกับการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้

เพราะ “ได้รับ” จึงหวงแหน

นายจตุพร เพียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า มุมจากคนภายนอกมองว่า “ป่า” ต้องเป็นอย่างเดียว ทั้งที่แท้จริงแล้วทั้งไร่หมุนเวียนและการรักษาป่าเอื้อประโยชน์กัน เพราะการทำไร่หมุนเวียนก็ยึดหลักการฟื้นฟูดินเช่นเดียวกับการทำเกษตรในที่ราบ เช่น การทิ้งพื้นที่ไว้ 1 ปี แล้วเวียนไปใช้ที่ดินเดิมที่ถูกพักไว้ 4-5 ปี

จตุพร เพียรมา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จตุพร เพียรมา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จตุพร เพียรมา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ทั้งนี้ “ป่า” ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ควรสงวนไว้และแตะต้องไม่ได้ แต่วิถีชีวิตคนที่ต้องอาศัยอาหารและรายได้ เขาจะมีความหวงแหนและเป็นกลไกสำคัญในการรักษาป่า

คุณไม่ต้องบอกเขาหรอกว่าควรดูแลป่า อย่าตัดไม้ เพราะเมื่อไฟป่าเข้ามาเขาจะสูญเสียทรัพยากร

ดังนั้น การที่ชาวบ้านช่วยกันป้องกันไฟป่าจึงเป็นความหวงแหนที่เขามีต่อป่า เพราะเมื่อไฟป่าเข้ามาหมายถึงวิถีชีวิตของพวกเขาที่จะต้องเปลี่ยนไป ทั้งด้านอาหาร รายได้และอื่นๆ การให้คนในพื้นที่ช่วยรักษาทรัพยากรที่มีผลต่อชีวิตเขาจึงดีที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“แม่ทา” สิทธิใช้ที่ดินแปลงรวม ติดเงื่อนไข “จังหวัด”

ธนาคารที่ดิน "บ้านโป่ง" ยังไปไม่ถึงฝัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง