จุดเปลี่ยน “คิงเพาเวอร์” ผูกขาดดิวตี้ฟรี

เศรษฐกิจ
15 พ.ย. 61
17:33
5,583
Logo Thai PBS
จุดเปลี่ยน “คิงเพาเวอร์” ผูกขาดดิวตี้ฟรี
การประมูลพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจได้เห็นการเปิดฉากต่อสู้กันของกลุ่มทุนใหญ่เพื่อทำธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้เต็งหนึ่ง คือ "คิงพาวเวอร์" แต่วันนี้มีสัญญาณเเล้วว่าคู่เเข่งรายอื่นก็ต้องการชิงพื้นที่ในสนามบินเช่นกัน

อย่างสนามบินอู่ตะเภา มีเอกชนเข้ามาบริหารแล้วเเบ่งเป็น ร้านค้า Duty Free บริษัทคิง เพาเวอร์ ส่วนกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประเภทร้านค้าและบริการ อาหาร และเครื่องดื่ม คือ กลุ่มเซ็นทรัล

พล.ร.ท.ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระบุว่า หลังจากนี้ผู้ชนะประมูลจะต้องเข้าพื้นที่เพื่อตกแต่งร้านค้าให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2562 เพื่อพร้อมบริการได้ ในเดือน ก.พ. ส่วนกรณีจุดรับสินค้า หรือ pick up counter ยืนยันว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจสินค้าปลอดอากรในเมืองจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสนามบินอู่ตะเภาได้แยกสัญญาของจุดรับส่งสินค้าออกมาดำเนินการเองไม่ใช่ของเอกชนรายใดรายหนึ่ง

ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการให้สัมทานพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี เปรียบเทียบสนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินอินชอน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน พบว่าการให้สัมปทานแบบรายเดียว ทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเกาหลีใต้ให้สัมปทานกับเอกชนหลายราย และแยกตามประเภทสินค้า รวม 12 สัญญา ทำให้การเกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ กระตุ้นยอดการจับจ่ายต่อหัวสูงกว่าไทย 5.5 เท่า

 

นายเบน ฮาร์ทไรท์ นักวิเคราะห์จากบริษัทโกลด์แมนแซค ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่เก็บค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีต่ำกว่าสนามบินอื่นในภูมิภาค เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งรายได้จากการให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินทั่วโลกอยู่ที่ ร้อยละ 30-40 ของรายได้จากยอดขาย 

ขณะที่ สนามบินในไทยอย่างสนามบินอู่ตะเภาจะได้รับค่าตอบแทนจากกลุ่มคิงพาวเวอร์ ร้อยละ 12-15 ของรายได้ อายุสัญญาสัมปทาน 10 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก ระบุว่า ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ เตรียมจะเปิดประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกพื้นที่ 6,500 ไร่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือและสำนักงานอีอีซี ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นประมูลโครงการนี้

ทั้งนี้จะมีโครงการย่อยภายใน 6 โครงการ 1 ในนั้นมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเทอมินอล 3 และศูนย์ธุรกิจการค้า โดยในส่วนของพื้นที่ดิวตี้ฟรีในเทอมินอล 3 เชื่อว่าจะมีเอกชนเข้ามาบริหารเชิงพาณิชย์มากกว่า 2 ราย เพราะพื้นที้ใหญ่และเชื่อมกับรถไฟไฮสปีดเทรน

 

ด้าน นายนวทัศน์ ก้องสมุทร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าท่าอากาศยานอู่ตะเภาอาจไม่เนื้อหอมอย่างที่คิด เพราะอยู่ไกลจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากต้องใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน

ความท้าทายต่อมาคือ การประมูลร้านปลอดภาษี ในอาคารผู้โดยสาร สนามบิน สุวรรณภูมิ ตลอดจน สนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และ หาดใหญ่ กำลังจะหมดสัญญาในปี 2563 นั้น

 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า เตรียมเสนอบอร์ดพิจารณา หลักเกณฑ์การประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ ร้านค้าปลอดภาษีในพื้นที่ดังกล่าว ภายในเดือน ม.ค.2562 โดยกำลังพิจารณาว่าจะทยอยเปิดประมูล หรือ ดำเนินการในคราวเดียว และจะไม่แยกหลายสัญญา ตามที่นักวิชาการ และ 3 สมาคมค้าปลีกเสนอ เนื่องจากมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม นี้อาจเป็นก้าวเเรกที่คิงพาวเวอร์เสียพื้นที่ให้เจ้าอื่นในวันที่ไม่มีหัวเรือใหญ่ อย่างนายวิชัย ศรีวัฒนประภา สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ คือ สุวรรณภูมิที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานลงจะถูกแบ่งเค้กให้กับรายอื่น ๆ หรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง