แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ใครได้-ใครเสีย ?

การเมือง
21 พ.ย. 61
15:25
539
Logo Thai PBS
แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่  ใครได้-ใครเสีย ?
แบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้า กระทบพรรคการเมืองจัดผู้สมัคร ส.ส.-มีผลต่อฐานเสียงในพื้นที่ และเสี่ยงกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

หลังคำสั่ง คสช. 16/2561 ประกาศ "ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง" หรือพูดให้ชัดคือให้กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังกกต. วางกรอบแบ่งเขตตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ขั้นตอนมาสะดุดเมื่อมี "สัญญาณ" ให้เริ่มใหม่ด้วยคำสั่ง คสช. ฉบับนี้

เงื่อนไขเดิมยังอยู่ คือกกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จก่อนพ.ร.ป. เลือกตั้งส.ส. จะบังคับใช้ 11 ธ.ค.นี้ (90 วัน นับตั้งแต่พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

 

ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กกต. เริ่มทำงาน โดยแบ่งขั้นตอนดำเนินงานเป็น 2 ช่วงช่วงแรก 90 วัน สำหรับการแบ่งเขต และช่วงที่สอง 30วัน ที่จะให้พรรคการเมืองได้เตรียมผู้สมัครส.ส. ตามเขตที่แบ่งไว้

ช่วงแรก กกต. เริ่มการแบ่งเขต โดยใช้เกณฑ์ประชากรหารจำนวนเขต (350 เขต) จะได้สัดส่วนประชากร 189,110 คน ต่อ 1 เขตเลือกตั้ง จากนั้น กกต.จังหวัด จะกำหนดโมเดล 3 รูปแบบ เพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชน ซึ่งการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศ เช่น พื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน ฯลฯ และเขตการปกครอง เช่น อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อความสะดวกและป้องกันความสับสนของประชาชน

หากถามว่าทำไมต้องแบ่งเขตใหม่ ? เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เขตเดิมไม่ได้ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.จำนวน ส.ส.เขต ลดลง เดิมการเลือกตั้งปี 2557 มี ส.ส.เขต 375 คน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีส.ส.เขต 350 คน ลดลง 25 ที่นั่ง จำนวนเขตลดตามไปด้วย 2.จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ต้องหาค่าเฉลี่ยประชาการต่อพื้นที่ที่จะกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ 

โมเดลข้างต้น กกต. กำหนดเขตคร่าวๆ แล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และกกต.จังหวัดก็รับฟังความเห็นและส่งเรื่องมายัง กกต. เพื่อพิจารณาแล้ว แต่ติดปัญหาที่สุขภาพของประธานกกต. ที่อ้างว่าต้อง "ผ่าตัดตา" จึงทำให้การประกาศเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกำหนด

 

โรดแมปเลือกตั้งตามสูตร กกต. ที่จะประกาศเขตเลือกตั้งต้นเดือนพ.ย.นี้ จึงต้องเลื่อนออกไป พร้อมการประกาศคำสั่งคสช. 16/2561 ในวันที่ 16 พ.ย.2561 ที่อ้างว่าต้อง "คุ้มครอง" กกต. เพราะความล่าช้าอาจกลายเป็นประเด็นทางกฎหมาย และอ้างว่ามีการร้องเรียนเข้ามายัง คสช. และรัฐบาล ว่าการรับฟังความเห็นยังไม่รอบด้านจึงอยากให้ กกต.พิจารณาใหม่

เมื่อโรดแมป "แบ่งเขต" ในช่วง 90 วันแรกต้องเขยื้อน การเตรียมผู้สมัครในช่วง 30 วันหลังจึงกระทบสะเทือนไปด้วย ยังไม่นับรวมกรอบเวลาขั้นตอนอื่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

เสี่ยงกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

คำสั่งคสช. 16/2561 มีนัยยะทางการเมือง 2 ประเด็น คือ 1.ถูกมองว่าเป็นสัญญาณ "เลื่อนเลือกตั้ง" เพราะแบ่งเขตไม่เสร็จ หมายถึงการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ไม่ทัน และเมื่อพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. บังคับใช้ 11 ธ.ค.2561 หากแบ่งเขตไม่เสร็จจะกระทบต่อการกำหนดวัดเลือกตั้ง และการจัดทำพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นโรดแมปเดิมที่จะมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ก็อาจมีอันต้องเลื่อน!

ต่อประเด็นนี้กกต.และรัฐบาล ยืนยันหนักแน่ว่าไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง เพราะมั่นใจแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จก่อนพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. จะบังคับใช้

2.ความได้เปรียบ-เสียเปรียบจากการแบ่งเขต  การแบ่งเขตใหม่ย่อมทำให้บางพื้นที่ ส.ส.ลดลง และบางพื้นที่ ส.ส.เพิ่มขึ้น กรณีส.ส.ลดลง แต่ละพรรคต้องไปเคลียร์กันเองว่าจะให้ผู้สมัครคนใดถอนตัว เช่น จังหวัดหนึ่งเคยมี 12 เขต แต่ลดลงเหลือ 10 เขต ผู้ใหญ่ของพรรคต้องเคลียร์ว่าผู้สมัครส.ส. 2 คน ที่ไม่มีเขต จะไปลงสมัครที่เขตใดแทน หากเคลียร์ไม่ได้ก็อาจถึงขั้นต้องย้ายพรรคเพื่อหาเขตลงสมัคร ส่วนจังหวัดที่เขตเพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่หาผู้สมัคร ส.ส.เพิ่มเท่านั้น

 

ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐบาลพยายามแบ่งเขตให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่ามีคนนำเงื่อนไขการแบ่งเขตส.ส. เป็นข้อต่อรองกับอดีตส.ส.ในพรรค ซึ่งหากอดีต ส.ส.ย้ายพรรค ก็จะแบ่งเขตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราทราบ เพราะมีคนมาต่อรองกับอดีต ส.ส. พยายามเอาเรื่องนี้มาต่อรอง ว่าถ้าไปอยู่พรรคนั้นก็จะแบ่งเขตเลือกตั้งให้แบบนี้ ถ้าไม่อยู่ก็จะแบ่งเขตให้อีกแบบหนึ่ง 

สอดคล้องกับความเห็นของนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เอื้อประโยชน์พรรคพลังประชารัฐ เพราะที่ผ่านมีปัญหากับกลุ่มสามมิตรเรื่องการแบ่งผู้สมัครส.ส.ไม่ลงตัว เพราะยังมีหลายเขตที่มีผู้สมัครส.ส.ทับซ้อนกัน

ขยายความเพิ่มตามจากคำสัมภาษณ์ข้างต้น เนื่องจากก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐและกลุ่มสามมิตรมีปัญหาในการจัดทัพผู้สมัคร เพราะพรรคพลังประชารัฐหาผู้สมัครไว้แล้วกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับกลุ่มสามมิตรที่หาผู้สมัครไว้แล้ว แต่ผู้สมัครบางส่วนมีพื้นที่เป้าหมายและฐานเสียงทับซ้อนกัน จึงกลายเป็นการจัดสรรพื้นที่ที่ไม่ลงตัว 

แบ่งเขตใหม่กระทบฐานเสียง

ทั้งนี้หากมองในแง่วิชาการ การแบ่งเขตใหม่ย่อมมีผลต่อ "ฐานเสียง" ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดหนึ่งมี 3 อำเภอ คือ ก. ข. ค. มีเขตเลือกตั้ง 2 เขต คือเขต1 อำเภอ ก. และเขต2 อำเภอ ข.และค. โดยพรรคเอมีฐานเสียงอยู่ในเขต1 มีคนใช้สิทธิ์ 70% และพรรคบีมีฐานเสียงในเขต2 มีคนใช้สิทธิ์ 90%

หากมีการแบ่งเขตใหม่ โดยแบ่งอำเภอ ก. เป็นสองสวน และนำแต่ละส่วนไปรวมกับอำเภอ ข. และอำเภอ ค. จะทำให้พรรคเอเสียฐานเสียง จนทำให้พรรคบีชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต

ดังนั้นการแบ่งเขตจึงมีผลต่อพรรคการเมืองและการเลือกตั้งอย่างมาก เพราะมีผลทั้งการส่งผู้สมัครและฐานคะแนนในแต่ละพื้นที่ คำสั่ง คสช. ที่มีนัยยะของ "คำสั่ง" ให้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จึงถูกวิจารณ์ถึงการแทรกแซงการทำงานของ กกต. ที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง