ห่วงเอื้อทุนต่างชาติ "ฮุบ" ที่ดินภาคตะวันออก

เศรษฐกิจ
21 พ.ย. 61
19:00
9,506
Logo Thai PBS
ห่วงเอื้อทุนต่างชาติ "ฮุบ" ที่ดินภาคตะวันออก
นักวิชาการ ขอให้รัฐบาลทบทวนการเปิดให้กลุ่มทุนซื้อที่ดินลงทุนในเขตอีอีซี โดยเฉพาะ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา หลังมีกระแสข่าวกลุ่มอาลีบาบา ทุนใหญ่จากจีน จะขอซื้อที่ดิน 200 ไร่ในเขตอีอีซีแทนการเชาลงทุน ห่วงไทยได้ไม่คุ้มเสียกับเม็ดเงินลงทุน

วันนี้ (21 พ.ย.2561) ไทยพีบีเอส ตรวจสอบข้อมูลหลังมีกระแสที่มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า แจ็คหม่า อาลีบาบา จะขอซื้อที่ดินในจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แทนการเช่า

ทั้งนี้อาลีบาบา มีแผนจะทำฮับด้านโลจิสติก ผ่องถ่ายสินค้าจากจีน โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง มูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้าน  การที่ต่างชาติขอซื้อที่ดินเพื่อลงทุนทำได้ก็จริง แต่ต้องพิจารณาความคุ้มค่ากันอย่างไร

กลุ่มทุนที่จะซื้อที่ดินได้ต้องได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คุ้มไม่คุ้ม บีโอไอ เป็นผู้ตรวจสอบให้เป็นไปตามเงื่อนไขบอร์ดบีโอไออนุมัติ แต่ถ้าเลิกกิจการก็ต้องขายคืนตามกฎหมายกำหนด ซึ่งก็ทำกันมานานแล้ว จึงเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหวถ้ามีใครบอกว่า ไทยเปิดทางให้กลุ่มทุนต่างชาติ ซื้อที่ดินทำธุรกิจได้ คงมีความเห็นแย้งว่าไม่เหมาะสม

 

วันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เลี่ยงการตอบคำถามอย่างชัดเจน หลังจากถูกตั้งคำถามว่าเปิดทางให้กลุ่มอาลีบาบา ทุนใหญ่จากจีน ซื้อที่ดินในไทยจริงหรือไม่ 

เรื่องนี้ถูกถามถึง เพราะต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปจีน และมีโอกาสหารือกับนักธุรกิจชั้นนำ หนึ่งในนั้น คือ แจ็คหม่า ประธานบริษัทอาลีบาบากรุ๊ป ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าสนใจจะลงทุนสมาร์ทดิจิทัล และโลจิสติกส์ในพื้นที่อีอีซี โดยต้องการหาซื้อที่ดินตั้งโครงการหลายฝ่าย รวมถึงนักวิชาการ แสดงความห่วงใย


อาลีบาบากรุ๊ปซื้อที่ดิน 200 ไร่

เมื่อตรวจสอบกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ให้ข้อมูลว่าจริงที่อาลีบาบากรุ๊ป ต้องการซื้อที่ดินเพื่อลงทุน และกำลังให้บีโอไอ พิจารณาตามเงื่อนไข เบื้องต้นประมาณ 200 ไร่

หนังสือ อีอีซีสำนักงานอีอีซี ได้ออกหนังสือชี้แจงแบบนี้ ประเด็นแรกกฎหมายอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการอยู่แล้ว แต่เงื่อนไขคือต้องขายเมื่อเลิกกิจการ ทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กฎหมายสองฉบับนี้มีมานานกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติที่ซื้อที่ดินมาเพื่อประกอบการมากมาย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ จากญี่ปุ่น การให้บริษัทอาลีบาบาถือครองที่ดินในระยะเวลาที่มาลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ถ้ามีกลุ่มลงทุนใหม่ จากประเทศอื่นขอซื้อที่ดินก็ย่อมทำได้เช่นกัน

จริงๆ แล้วธุรกิจต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ใช้กฎหมายการลงทุนบีโอไอ แต่ใช้ช่องทางโดยร่วมลงทุนถือหุ้นกับบริษัทไทยได้ ปัจจุบันนักลงทุนหลายประเทศที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากกว่าครึ่งหนึ่งคือญี่ปุ่น รองลงมาคือสิงคโปร์ และจีน

การร่วมลงทุนต่างชาติกับบริษัทไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหลังทั้ง 3 จังหวัด คือระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จังหวัดที่เพิ่มมากที่สุดในอีอีซี คือ ระยองกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ กว่า 378 ล้านบาท

 

นักวิชาการ จี้ทบทวนห่วงไทยเสียเปรียบ


แม้มีคำอธิบายออกมาจากฝั่งสำนักงานอีอีซี แต่ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่า รัฐควรทบทวน รัฐไม่ควรมองเพียงมิติการลงทุนเท่านั้น เพราะผลที่ตามอาจจะกระทบด้านสังคมและอธิปไตยของประเทศ โดยเห็นว่าการให้เช่าที่ดินระยะยาวเป็นสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเพียงพอแล้ว ซึ่งหากเปิดให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง อาจจะมีบริษัทต่างชาติอื่นๆ ตามมา


การเปิดทางให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินมากขึ้นเนื่องจากที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ปัจจุบันกลุ่มคนร่ำรวยที่มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ได้ถือครองที่ดินมาก 90 เปอร์เซ็นต์

พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด การซื้อที่ดินของทุนใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบา ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าถามว่าไทยจะได้อะไรคุ้มค่าหรือไม่ ต้องอยู่ที่การพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลให้ธุรกิจที่ลงทุน เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ใช้ทรัพยากรไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง