วิเคราะห์ "โกโก้" พืชเศรษฐกิจใหม่ ร่วงหรือรอด?

เศรษฐกิจ
3 ธ.ค. 61
20:04
42,000
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "โกโก้" พืชเศรษฐกิจใหม่ ร่วงหรือรอด?
ไทยพีบีเอส วิเคราะห์อนาคตการปลูกโกโก้ในประเทศไทย เพื่อทดแทนการปลูกยางพาราที่ราคาตก และหวังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

วันนี้( 3 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังราคายางที่ตกต่ำ ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมการปลูกโกโก้ขึ้นมา เพราะตลาดดูจะสดใสกว่า แต่ถ้าเกษตรกรจะเปลี่ยนทั้งหมดอาจต้องพิจารณาให้รอบ คอบ เบื้องต้น จึงมีการเสนอให้ปลูกแซมไปก่อนดีกว่าโค่นไปทั้งหมด ถึงเเม้ว่าทิศทางการปลูกโกโก้จะดี ต้องยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพราะในไทย ยังผลิตน้อยมาก

โกโก้ ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงนี้ ในฐานะพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ทั้งการผลิตเพื่อส่งออก ในการทำช็อกโกแลต หรือ การวางแผนการผลิตโกโก้ ทดแทนการทำสวนยางพารา ที่อายุเกิน 25 ปี หรือให้น้ำยางน้อย ขณะที่ตลาดภายในประเทศและตลาดโลก มีความต้องการผลิตโกโก้มากขึ้น

ไทยเริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจปลูกโกโก้มากขึ้นด้วย เพราะราคาดี โดยพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ อยู่ที่ 5,464.39 ไร่ และพื้นที่เก็บเกี่ยว 4,090.66 ไร่

ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ คิดเป็นพื้นที่ 3,957.59 ไร่ ซึ่งจังหวัดที่ปลูกมาก คือ น่าน เชียงรายลำปาง ตาก ภาคตะวันออกก็ปลูกมากเช่นกันโดยมีพื้นที่เพาะปลูก 586.48 ไร่ จังหวัดที่ปลูกมาก คือ จันทบุรี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแผนเบื้องต้น ศึกษาข้อมูลด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สภาพพื้นที่เหมาะสม ที่ใดสามารถปลูกทดแทนยางเก่า หรือปลูกแซมในสวนยางได้ ประมาณการต้นทุนต้นทุนและความคุ้มค่า ตั้งเเต่การปลูกไปจนถึงการผลิตหากผลการศึกษาออกมาจะะเร่งจัดทำแผนการผลิต

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า แนวคิดสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาง หันไปปลูกโกโกโก้ เพื่อแก้ปัญหายางพาราตกต่ำในระยะยาว ด้วยการลดพื้นที่ปลูก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นักวิชาการ ชี้ต้องวางแผนในพื้นที่เหมาะสม

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยา ลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า การส่งเสริมสามารถทำได้ เพราะสภาพพื้นที่เหมาะสม และความต้องการบริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

แต่รัฐบาลจะต้องวางแผนให้ชัดเจนโดยยึดโมเดลการปลูกกาแฟที่เริ่มจากผู้ผลิตกาแฟ ลงมาสู่เกษตรกร เนื่องจากอดีตรัฐบาลเคยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่มีคุณภาพ ขาดตลาดรองรับ ดังนั้นควรประสานผู้ผลิต หรือ อุตสาหกรรมแปรรูปโกโก้ก่อนจะส่งเสริม เพื่อให้ตรงความต้องการ ปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพมากที่สุด

ขณะที่ผู้ผลิตช็อกโกแลตยืนยันว่า ความต้องการบริโภคช็อคโกแลตคนไทยอยู่ที่ 120 กรัมต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับเบลเยียม 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าตลาดโกโก้ในไทย มีโอกาสขยายตัว 

โดยปัจจุบันบริษัทมียอดออเดอร์ในโรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว แต่ยอมรับว่า ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยปลูกต้นโกโก้น้อยมาก  เพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงมาก

หลายปีที่ผ่านมาโกโก้เป็นสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ไม่มาก และมีการปลูกแซมกับพืชอื่น จึงทำให้ผลผลิตราคาดี แต่เมื่อโกโก้ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะการปลูกทดแทนยางพารา นี่อาจจะต้องถามกลับว่า จะกลายเป็นวังวนซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เมื่อมีการส่งเสริมให้เพาะปลูกแล้ว ราคาอาจจะร่วงลงมาทันที หากไม่มีแผนในการตลาดรองรับ เหมือนยางพาราที่เคยทำราคา 150 บาทกิโลกรัม แต่วันนี้เหลือ 3 กิโล ร้อย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง