เปิด 3 ปัจจัย คนกลัวยื่นบัญชีทรัพย์สิน

การเมือง
4 ธ.ค. 61
15:56
2,392
Logo Thai PBS
เปิด 3 ปัจจัย คนกลัวยื่นบัญชีทรัพย์สิน
วิเคราะห์สาเหตุกรรมการหน่วยงานรัฐ-ข้าราชการระดับสูง ไม่เห็นด้วยกับการยื่นบัญชีพทรัพย์สินฯ หวั่นแจงไม่ครบกลายเป็นคดีอาญา เสี่ยงถูกอายัดทรัพย์สิน และต้องแสดงทรัพย์สินของ "ภรรยานอกสมรส" ด้วย

การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังเคยมีประเด็นนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย กังวลต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ จนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต้องเลื่อนการบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช. ว่าด้วยการยื่นบัญชีพทรัพย์สินฯ ออกไปถึง 2 ครั้ง

ล่าสุดเป็นข้อมูลจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน วันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามี ”กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จ่อลาออก เพราะไม่สะดวกที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กระทั่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะป.ป.ช. เตรียมแก้ไขประกาศให้ชัดเจน ซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึง “ท่าน”

เพราะหลายคนทำท่าตกใจ ขอลาออกจากตำแหน่ง 
ที่มา www.thaigov.go.th

ที่มา www.thaigov.go.th

ที่มา www.thaigov.go.th

 

ตามมาด้วยคำยืนยันของนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. ระบุว่า กรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ตำแหน่งที่ถูกกำหนดให้ยื่นบัญชีพทรัพย์สินฯ แต่ต้น เพราะเป็นตำแหน่งเฉพาะกิจ ไม่ใช่กรรมการในหน่วยงานรัฐ 

ย้อนกลับไปถึง “ความกลัว” ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ประกาศของ ป.ป.ช. เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือน พ.ย. และเดิมจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 2 ธ.ค. นี้ แต่ด้วยเสียงคัดค้านจาก นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการหน่วยงานรัฐหลายตำแหน่ง นำไปสู่การเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้คนที่ไม่สะดวกมีโอกาส “ไขก๊อก” โดยไม่กระทบกับหน่วยงานรัฐ

“ความกลัว” มาจาก 3 ปัจจัย

1.ตามพ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ นอกจากผู้ดำรงตำแหน่ง ภรรยา และบุตร จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ บุคคลที่อยู่กินฉันสามีภรรยา อย่าง “ภรรยานอกสมรส” หรือ “กิ๊ก” ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ด้วย (มาตรา 102 วรรค 2) จึงทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ในครั้งนี้หวั่นใจ เพราะหากไม่ยื่นก็เท่ากับจงใจปกปิด

อ่านเพิ่มเติม พ.ร.ป. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแบบฟอร์มการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ตามกฎหมายเดิม ระบุชัดเจนว่าทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ต้องแสดง และมีช่อง “บุคคล” ที่ต้องแสดงบัญชีพทรัพย์สิน 3 ช่อง ได้แก่ ตนเอง คู่สมรส และบุตร ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากบุคคลที่อยู่กินฉันสามีภรรยาร่วมด้วย ก็อาจจะต้องเพิ่มช่องชี้แจงรายละเอียด หรือแนบเอกสารอื่นๆ อย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม แบบฟอร์ม บัญชีพแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน

 

2.ความยุ่งยากของการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ที่จะต้องเก็บรวบรวมเอกสาร การใช้จ่าย หรือการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งมีรายละเอียดมากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการยื่นบัญชีทรัยพ์สินของรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา และพระเครื่อง ฯลฯ เพราะหากแสดงไม่ละเอียด อาจเข้าข่ายจงใจปกปิดทรัพย์สิน หรือแสดงบัญชีพทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

มุมนี้มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีความยุ่งยากจริง สอดคล้องกับข้อเสนอของ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แม้เห็นด้วยกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แต่เรียกร้องให้ป.ป.ช. ทำงานเชิงรุก โดยสร้างฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับระบบออนไลน์ เช่นเดียวกับการเสียภาษีเพื่อความสะดวกในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แต่อีกด้านหนึ่ง ข้าราชการระดับสูงหรือกรรมการหน่วยงานรัฐ ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการหรือบุคคลที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ มาแล้ว ประเด็นความยุ่งยาจึงไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้าง


3. กรณีที่ ป.ป.ช. มีมติให้อายัดทรัพย์สินเนื่องจากมีหลักฐานเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติหรือการจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นเท็จ หากถูกตรวจสอบในขั้นตอนนี้และทรัพย์สินถูกอายัด จะทำให้เหล่า “กรรมการ” ที่มีธุรกิจส่วนตัวได้รับผลกระทบ และอาจลุกลามกระทั่งถูกดำเนินคดีอาญาด้วย

ทั้ง 3 ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นหลัก ที่สะท้อน “ความกลัว” และเป็นสาเหตุที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกมาคัดค้าน 

จาก นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย มาถึงกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปัญหาแต่ละจุดถูกแก้ไข กรณีนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ป.ป.ช.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป ขณะที่กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งรัฐบาลและป.ป.ช. ยืนยันว่าไม่ต้องยื่น

อย่างไรก็ตามคำถามของสังคมต่อกรณีนี้ ได้รับการชี้แจงตามหลักกฎหมายแล้ว แต่หลักจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ชูสโลแกนเป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับปราบโกง" ซึ่งเพิ่มมาตรการการตรวจสอบภาครัฐ-เอกชนอย่างเข้มข้น เป็นคำถามที่ประชาชนยังคาใจ และอยากให้ผู้มีอำนาจและผู้ใช้อำนาจปฏิบัติตนตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง