ปอท.เตือนภัยหลอกโอนเงินออนไลน์ มิจฉาชีพสบช่องคนไทยขี้สงสาร

อาชญากรรม
7 ธ.ค. 61
16:33
1,152
Logo Thai PBS
ปอท.เตือนภัยหลอกโอนเงินออนไลน์ มิจฉาชีพสบช่องคนไทยขี้สงสาร
โฆษก ปอท.เตือนภัยหลอกโอนเงินออนไลน์ ต้องท่องคาถาตั้งสติก่อนโอน หลังจากกลุ่มมิจฉาชีพปลอมหรือแฮกเฟซบุ๊กมาหลอกยืมเงิน เนื่องจากคนไทยมีนิสัยขี้สงสารและเห็นอกเห็นใจคนอื่น

วันนี้ (7 ธ.ค.2561) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท.ในฐานะโฆษก บก.ปอท.เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ สื่อโซเชียลต่างๆ ทำให้มีการติดต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มมิจฉาชีพเอาช่องทางเหล่านี้มาหลอกลวงประชาชน ด้วยการปลอมเฟซบุ๊กหรือแฮกเฟซบุ๊กแล้วมายืมเงินเพื่อนในกลุ่มไลน์ กลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊กมีจำนวนมากขึ้น การหลอกลวงลักษณะนี้ มิจฉาชีพจะไม่ขอยืมคราวละมากๆ ส่วนมากจะยืมครั้งละ 1,000-2,000 บาท เพื่อให้ผู้ถูกหลอกสามารถโอนเงินได้ง่าย โดยมิจฉาชีพที่ปลอมมาเป็นเพื่อนจะสร้างเรื่องราวขึ้นมา เช่น ทำกระเป๋าเงินหาย ถูกล้วงกระเป๋า ตกรถบ้าง หรืออะไรก็ตามที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนทันทีทันใด คนไทยเป็นคนที่มีนิสัยขี้สงสารและเห็นอกเห็นใจคนอื่น เมื่อเพื่อนเดือดร้อนจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ทันที จึงเป็นช่องทางที่กลุ่มมิจฉาชีพเอามาหลอกลวงประชาชน โดยจะให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี หรือใช้ให้โอนเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ทรู มันนี่ วอลเล็ท เป็นต้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ แนะนำประชาชนในเรื่องการโอนเงินทางออนไลน์ว่า เมื่อถูกยืมเงินขอให้ตั้งสติให้ดีก่อนโอนให้คนยืม แม้คนยืมจะเป็นเพื่อนหรือญาติเราก็ตาม ลองคิดดูให้ดีว่าทำไมคนที่ยืม ถึงให้โอนเงินผ่านบัญชีชื่อคนอื่นแทนที่จะเป็นบัญชีคนยืมโดยตรง ถ้าจะให้ดีก็ลองโทรถามคุยด้วยเสียงหรือวิดีโอคอลเห็นหน้าคนยืมจะเป็นการดีที่สุด อย่าเอาแค่แชตคุยแล้วโอนเงินทันที นอกจากนี้ การตั้งรหัสต่างๆ อย่าตั้งรหัสที่คาดเดาได้ง่าย กลุ่มมิจฉาชีพจะเดาได้ถูกแล้วจะเข้ายึดบัญชีของเราไป

นอกจากนี้ ยังมีการส่งลิงค์แปลกๆ มา เขียนบอกให้เราช่วยเข้าไปกดไลค์ กดถูกใจหรือขอให้ไปโหวตลงคะแนนให้ด้วย ลูกกำลังสมัครแข่งขันต้องการยอดไลค์ ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพจะแพร่มัลแวร์ หรือไวรัสแฝงมาด้วย จากนั้นจะเข้ายึดระบบของเราไปใช้งานต่อทันที การรับแอดเพื่อนทางเฟซบุ๊ก ขอให้พิจารณารับ อย่าเอาแต่ยอดเพื่อนจำนวนมากไว้ก่อน เห็นหน้าสวยๆ หล่อๆ มาขอแอดเป็นเพื่อนก็กดรับทันที ลองย้อนไปดูโปรไฟล์เขาก่อน ถ้ามีข้อมูลไม่เยอะเพิ่งเล่นไม่นานก็กดลบไปดีกว่ารับมาแล้วถ้าเป็นมิจฉาชีพจะเข้ามาส่องดูพฤติกรรมของเราก่อนจะเอารูปเราไปปลอมชื่อเป็นเราไปหลอกเพื่อนเราอีกที

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า กรณีโดนแฮกไม่ว่าจะเป็นแฮกไลน์ ไอจี หรือเฟซบุ๊ก ก็ต้อง 3 แจ้ง คือ 1.แจ้งเพื่อนของเราในทุกช่องทางที่สามารถทำได้ว่าเราถูกแฮก เอารูปและชื่อเราไปใช้งาน อย่าหลงเชื่อ 2.แจ้งรายงานไปทางผู้ดูแลเฟซบุ๊ก วิธีการรายงานสามารถดูได้จากกูเกิ้ล เพื่อเฟซบุ๊กจะได้ลบบัญชีนั้นออกไป และ 3.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แคปฯ หน้าจอเฟซบุ๊กปลอมรวมทั้งข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดไปแจ้งตำรวจท้องที่ทันทีที่ถูกแฮก หรือจะมาที่ บก.ปอท.จะช่วยตรวจสอบให้อีกทาง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ที่นิยมใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ต้องใช้เงินสด อันดับแรกต้องให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการทำธุรกรรมด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ทุกชนิดต้องตั้งสติก่อนโอน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง