ม.44 ปลดล็อกการเมืองแล้ว

การเมือง
11 ธ.ค. 61
12:57
2,854
Logo Thai PBS
ม.44 ปลดล็อกการเมืองแล้ว
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ คสช.ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง

วันนี้ (11 ธ.ค.2561) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2561 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2561 อันเป็นวันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมาตรา 171 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้ตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ และมาตรา 173 บัญญัติให้ระยะเวลาในการคำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ให้นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ

มีการดำเนินการตามข้อ 8 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 53/2560 เรื่องการดำเนินตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค.2560 ที่ให้ คสช.พิจาณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.อันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งของพรรคการเมือง และจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเร็ววันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่มีความสำคัญต่อนาคตของประเทศ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปบริหารประเทศได้อย่างอิสระและเสรี และควรที่พรรคการสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อนำเสนอนโยบายที่ใช้ในกำรบริหารประเทศต่อประชาชนได้ อันเป็นวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 เรื่อง ห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่นำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 เฉพาะ 2 ในข้อ 1

2.คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 ห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่นำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 27 พ.ค.2557

3.ประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 39/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. ลงวันที่ 25 พ.ค.2557

4.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ ลงวันที่ 25 พ.ค.2557

5.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิ.ย.2557 เฉพาะในข้อ 2

6.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 80/2557 เรื่องให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 28 มิ.ย.2557

7.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่งคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 เฉพาะในข้อ 12

8.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค.2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7

9.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 ก.ย.2561 เฉพาะในข้อ 6

การยกเลิกตาม (3) (4) และ (6) ให้ยกเลิกเฉพาะในส่วนที่กำหนดห้ามบุคคล หรือบุคคลใดละเว้นการเคลื่อนไหว หรือประชุมทางการเมือง หรือห้ามการดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลใดตามประกาศ และคำสั่งดังกล่าวที่ห้ามหรือให้ละเว้นในเรื่องดังกล่าวด้วย

ข้อ 2 การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้

ข้อ 3 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 4 คำสั่งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 11 ธ.ค.2561

 

ทั้งนี้ การประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงปฏิทินการเลือกตั้ง นับตั้งแต่มีการประกาศ พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. ดังนี้

วันที่ 2 ม.ค. ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้เลือกตั้ง ส.ส. (เริ่มหาเสียงได้/เริ่มคิดค่าใช้จ่าย)

วันที่ 4 ม.ค. กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง, วันรับสมัคร, จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด, เขตเลือกตั้ง และสถานที่สมัครแบบบัญขีรายชื่อ

วันที่ 14-18 ม.ค. รับสมัครและพรรคแจ้งชื่อผู้เสนอเป็นนายกฯ (5 วัน)

วันที่ 25 ม.ค. กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต /บัญชีรายชื่อของทุกพรรค

วันที่ 25 เม.ย.62 จะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง

วันที่ 28 เม.ย.62 จะเป็นวันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ครบ 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และรอการประกาศแต่งตั้ง ส.ว.

วันที่ 9 พ.ค.62 จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้ง ครม.และ ครม.ถวายสัตย์ฯ ซึ่ง ครม.และ คสช.จะพ้นจากตำแหน่ง และ ครม.ใหม่ แถลงนโยบาย (ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันถวายสัตย์ฯ)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง