โพลชี้ประชาชนสับสนบัตรเลือกตั้ง

การเมือง
17 ธ.ค. 61
12:45
850
Logo Thai PBS
 โพลชี้ประชาชนสับสนบัตรเลือกตั้ง
นิด้าโพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักการทำหน้าที่ของ สนช.เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 แนะเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมประชาธิปไตย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มากขึ้น ขณะที่สวนดุสิตโพล ระบุประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความสับสนเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งที่มีแต่เบอร์

วันนี้ (17 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมนัดหารือพรรคการเมือง เพื่อชี้ขาดบัตรเลือกตั้งในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เบื้องต้น ได้เตรียมบัตรเลือกตั้งไว้ 2 รูปแบบ คือบัตรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งหมายเลข ชื่อ และโลโก้พรรค กับบัตรที่มีเพียงหมายเลข โดยจะรวบรวมข้อดีและข้อเสียเสนอต่อ กกต.พิจารณา

ขณะที่สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจกรณีข้อเสนอให้มีการตัดโลโก้ และชื่อพรรคการเมืองออกจากบัตรเลือกตั้ง และให้เป็นแบบมีแต่เบอร์เท่านั้น ร้อยละ 40.55 พบว่าประชาชนเกิดความสับสน จำชื่อ และหมายเลขพรรคไม่ได้, รองลงมาร้อยละ 24.62 พบว่าอาจเกิดการทุจริต โกงเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ส่วนร้อยละ 20.74 พบว่าไม่เป็นมาตรฐาน และไม่เป็นสากล

 

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนพบจาก "บัตรเลือกตั้ง" ที่ผ่านมา คือร้อยละ 38.79 พบว่าตัวหนังสือแน่น รายละเอียดเยอะและลายตา ส่วนร้อยละ 34.54 พบว่าชื่อพรรคและโลโก้พรรคไม่ชัด ทำให้ดูลำบาก และร้อยละ 19.09 พบว่ามีบัตรหลายใบ จำไม่ได้ว่าต้องกาใบไหนแบบไหน และเมื่อถามว่าประชาชนอยากให้บัตรเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นแบบใด พบว่าร้อยละ 48.13 คือมีชื่อผู้สมัคร โลโก้ ชื่อพรรคการเมืองครบถ้วน และชัดเจน ส่วนร้อยละ 22.70 คือกระดาษดี สีสด และตัวหนังสือชัด และร้อยละ 21.11 คือมีช่องให้กากบาทสะดวก ตัวเลือกไม่สับสน เข้าใจง่าย

สำหรับปัญหาที่ประชาชนพบจาก "การไปเลือกตั้ง" ครั้งที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 32.55 คือไม่ทราบขั้นตอนวิธีการใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องค้นหารายชื่อ ส่วนร้อยละ 30.35 คือหน่วยเลือกตั้งอยู่ไกล ไปผิดหน่วย เสียเวลา และร้อยละ 24.11 คือต้องกลับไปเลือกที่บ้านเกิด เดินทางลำบาก ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกาผิด ลืมชื่อ ลืมเบอร์ และจำรายชื่อผู้สมัครไม่ได้

 

 

ส่วนผลสำรวจของนิด้าโพลเกี่ยวกับการรับรู้ภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสายตาประชาชน พบว่าประชาชนรู้จักในการทำหน้าที่ สนช.มากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 83.54 ขณะเดียวกัน พบว่า ยังมีประชาชนบางส่วน ไม่รู้จักการทำหน้าที่ของ สนช. หรือร้อยละ 16.46 ขณะที่ผลสำรวจต่อการดำเนินงานของ สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย หรือร้อยละ 84.50 รองลงมา คือด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือร้อยละ 82.50, ด้านการตรากฎหมาย ร้อยละ 82.00 และด้านการต่างประเทศ ร้อยละ 81.75

ส่วนการดำเนินการด้านอื่นๆ ของ สนช. พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.88 ระบุว่า สนช.ดำเนินงานได้ดีแล้ว ทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ ร้อยละ 13.25 ระบุว่า ควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสาร, ร้อยละ 9.94 ระบุว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 4.22 ระบุว่า อยากให้ สนช. ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มากกว่านี้ รวมถึงการทำงานต้องปราศจากการแทรกทางการเมือง ควรเป็นกลาง และยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง