กกต.หารือพรรคการเมือง หาข้อสรุปกรอบหาเสียง

การเมือง
19 ธ.ค. 61
12:49
281
Logo Thai PBS
กกต.หารือพรรคการเมือง หาข้อสรุปกรอบหาเสียง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมหารือกับตัวแทนพรรคการเมือง 77 พรรค รวมถึงตัวแทนสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับกรอบการหาเสียง ที่จะนำไปสู่การประกาศระเบียบหาเสียงเลือกตั้งในเร็วๆ นี้

วันนี้ (19 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หารือร่วมกับกับตัวแทนพรรคการเมือง 77 พรรค รวมถึงตัวแทนสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับกรอบการหาเสียง ที่จะนำไปสู่การประกาศระเบียบหาเสียงเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ ประเด็นหลักที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน คือการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรอบค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง การจัดทำป้ายหาเสียง และบัตรลงคะแนน แม้จะมีข้อสรุปเบื้องต้น แต่ก็ยังมีข้อหารือเพิ่มเติมอีก

ตัวแทนพรรคการเมือง แสดงความห่วงกังวลเรื่องแนวทางการหาเสียง โดยพรรคเพื่อไทย ท้วงติงเรื่องการแบ่งกลุ่มการดีเบตของพรรคการเมืองที่ กกต.กำหนดจากฐานการส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงรับเลือกตั้ง พร้อมเสนอให้ใช้วิธีจับสลาก และเสนอให้แก้ไขกฎหมายกำหนดให้แต่ละพรรค มีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ด้วยชี้ว่าหากเป็นไปตามเดิมจะทำให้ประชาชนจะสับสน แต่นายนิกร จำนงผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอให้ผู้สมัครของพรรคในเขตต่างๆ ใช้เบอร์เดียว เพราะจะช่วยให้ประชาชนไม่สับสน

ขณะที่ นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์เตรียมความพร้อมในการทาบทามบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยรอจังหวะเวลาในช่วงหลังจากการประกาศพระราชกฤษฎีการให้มีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังไม่สรุปว่าจะนำนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคขึ้นแสดงในป้ายหาเสียงหรือไม่ ซึ่งรอความชัดเจนจากข้อกำหนดของ กกต. ก่อน แต่เห็นว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคใดในฐานะนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคก็สามารถนำรูปขึ้นป้ายหาเสียงได้

นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า "โดยหลักการผู้จะถูกขึ้นรูปจะเป็นผู้สมัคร ซึ่งเป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค แต่ท่านอาจจะอยู่ในฐานะของพรรคการเมืองที่จะเสนอบุคคลเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะฉะนั้นใครที่จะขึ้นรูปได้ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อก็ถูกต้องแล้ว"

การหารือกำหนดไว้ 3 เรื่องหลัก ตั้งแต่การกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการจัดทำป้ายหาเสียง การหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียง จะถูกนำไปประมวลออกเป็นร่างระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งของ กกต.ต่อไป และยังคงคาดการณ์ว่า พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จะประกาศได้ช่วงต้นเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นก็จะนำระเบียบการหาเสียงประกาศบังคับใช้เช่นกัน และแม้กรอบเวลาจะล่าช้าไปบ้าง แต่ กกต. ก็กล่าวย้ำแล้วว่า วันเลือกตั้ง ยังคงวันเดิม 24 ก.พ.62

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง