เช็กคุณภาพสิ่งแวดล้อมอ่าวไทย น้ำยังแย่ แต่ขยะลดลง

สิ่งแวดล้อม
21 ธ.ค. 61
10:25
1,030
Logo Thai PBS
เช็กคุณภาพสิ่งแวดล้อมอ่าวไทย น้ำยังแย่ แต่ขยะลดลง
สถานการณ์ทะเลอ่าวไทย แนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาขยะทะเล หลังจากตัวเลขคนไทยผลิตขยะต่อวันลดลงเหลือ 1.13 กิโลกรัม อาจจะส่งผลต่อขยะทะเลที่กระทบต่อสัตว์ทะเลตาย เผยสัญญาณดี หลังแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่หาดเขาหลักรอบ 5 ปี

วันนี้ (20 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนาวิชาการในหัวข้อ "วิกฤตอ่าวไทย รวมใจแก้ไข...มุ่งไป SDGs" นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงสถานการณ์อ่าวไทยว่า หากมองในเรื่องของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่ออ่าวไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย รูปตัว ก ซึ่งมีแม่น้ำสายหลักๆ อยู่ 4 สาย ได้แก่ แม่กลอง เจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง ผลตรวจคุณภาพน้ำยังเข้าข่ายวิกฤต  

จากผลประเมินคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย ระหว่างปี 2557-2561 ตั้งแต่ จ.ตราด จนถึง จ.สงขลา ชี้ให้เห็นว่า น้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้-ดีมาก ร้อยละ 88 และอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม-เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 12 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะในบริเวณปากแม่น้ำสายหลัก และพื้นที่ที่มีชุมชนรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น


สำหรับบริเวณที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน และ จ.สมุทรสาคร พื้นที่ปากแม่น้ำท่าจีน ส่วนบริเวณที่เสื่อมโทรมมาก คือ จ.สมุทรปราการ ในพื้นที่หน้าโรงงานฟอกย้อม กม.35 ,ปากคลอง 12 ธันวา และปากแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงานเห็นแก่ตัว ไม่ใช้กระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ไม่ยอมเสียเงินเพื่อทำระบบบำบัดน้ำเสีย

นอกจากนี้ยังพบปัญหาสารเคมีจากการเกษตร และการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในอ่าวไทยมากที่สุด ที่ผ่านมาคพ.สั่งปรับโรงงานที่ฝ่าฝืนปล่อยน้ำเสีย 2,000 บาทต่อวัน แต่เมื่อสั่งปรับแล้วโรงงานก็ต้องกลับไปแก้ไขภายใน 90 วัน ไม่เช่นนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องสั่งปิดโรงงาน

นายประลอง กล่าวอีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง มีรายงานการพบคราบน้ำมันหลายครั้ง สาเหตุเกิดจากน้ำมันรั่วไหล อับปาง การลักลอบทิ้งน้ำมัน ของเรือบรรทุกขนส่งสินค้า และไม่รู้แหล่งที่มา คพ.ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการแก้ปัญหา โดยทำบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดทำฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ก้อนน้ำมันดิบ เพื่อสนับสนุนการบ่งชีแหล่งที่มา ภายใต้มาตรฐานสากล


ส่วนปัญหาขยะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเมื่อปี 2559-2560 พบมีการสร้างขยะคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน แต่ในปีนี้ลดลงเหลือคนละ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน โดยตัวเลขขยะในปี 2560 มีจำนวน 27 ล้านตันลดลงจากปี 2559 ที่มีตัวเลขถึง 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะขยะบกก็จะมีผลต่อขยะที่ไหลลงในทะเลและส่งผลให้ไทยเป็น 1 ใน 6 ของโลกที่มีปัญหาขยะทะเล ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดขยะเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น 

ชงเรือประมงเก็บขยะทะเลแลกสิทธิประโยชน์

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า แม้สถานการณ์ประมงในไทยจะมีแนวโน้มที่ดี โดยจากสถิติปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ต.ค.ปี 2561 พบว่ามีการจับสัตว์น้ำได้มากกว่า 680,000 ตัน โดยในเดือน พ.ค. จับได้มากที่สุด 122,050 ตัน แต่ยังคงมีสัตว์ทะเลจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายเพราะขยะที่อยู่ในทะเล

โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 89 หรือ 46,000 ชิ้นต่อตารางไมล์ มากกว่า 3 เท่าของสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือ อันตรายจากพลาสติดที่มีขนาดเล็กลงหรือไมโครพลาสติกที่ดูดซับสารพิษแล้วเข้าไปสะสมอยู่ในสัตว์น้ำ เมื่อคนบริโภคอาหารทะเลก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ ขยะในทะเลร้อยละ 80 จากกิจกรรมบนฝั่ง ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นขยะในทะเล แต่ขยะในทะเลไทยอาจไม่ได้มาจากคนไทยผลิตเองทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันโลกร้อนมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสลมสร้างพายุขึ้นมา และขยะบางส่วนอาจถูกพายุพัดพามาได้

 

รัฐบาลเตรียมออกมาตรการให้เรือประมงพาณิชย์เก็บขยะจากทะเลขึ้นฝั่ง โดยมีตัวชี้วัดเพื่อใช้เป็นค่าต่อรองในค่าอากร หรือค่าออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อให้เรื่องขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน 

 

แก้วิกฤตอ่าวไทยเริ่มด้วยจิตสำนึก

ด้าน แน่งน้อย ยศสุนทร ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SaveOurSea.net (SOS) ระบุว่า กลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SOS ได้เริ่มรวมตัวกันดำน้ำเพื่อเก็บขยะ ตัดอวน ตั้งแต่ปี 2546 พบว่าปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลมากที่สุด คือ ระเบิด สมอเรือ อวน และขยะ โดยเฉพาะอวนที่กลุ่ม SOS ตัดแล้วเก็บขึ้นมาได้ในเวลา 14 ปี เก็บมาได้กว่า 13 ตัน ซึ่งอวนนี้เป็นกับดักสัตว์น้ำที่เป็นปัญหามาก กลุ่มต้องช่วยเหลือปลา และเต่าที่ติดอยู่ในอวน ขณะที่ดำน้ำลงไปเก็บขยะในทะเลอยู่บ่อยครั้ง

ภาพ : กลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SOS

ภาพ : กลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SOS

ภาพ : กลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SOS


ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ SOS ยังได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ด้วยการควบคุมการทำประมง ป้องกันน้ำเสียลงทะเล หยุดการสร้างเขื่อนหิน ควบคุมนักท่องเที่ยว และสร้างจิตสำนึกรักทะเลให้ทุกคนร่วมช่วยกันดูแลรักษาทะเล

ทุกอย่างให้เริ่มที่ตัวเองก่อน ไม่ทิ้งขยะลงทะเล เห็นแล้วเก็บ ไม่ใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทิ้งน้ำเสียลงทะเล และเริ่มสร้างจิตสำนึกให้กับคนในครอบครัว และคนอื่นๆ

เต่ามะเฟืองวางไข่ ดัชนีวัด สวล.ชายหาดสะอาด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่บริเวณพื้นที่ชายหาดเขาหลัก จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถือ ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เนื่องจากปกติเต่ามะเฟืองจะเป็นเต่าที่รักความสงบ และจะใช้สถานที่ที่มีความสงบ และมีความอุดมสมบูรณ์เป็นสถานที่วางไข่ ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของการร่วมมือกันอนุรักษ์ทะเลกันมากขึ้น ผ่านมาตรการรักษาท้องทะเลต่างๆ ทั้งการงดสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาด และรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก

ภาพ : Thon Thamrongnawasawat

ภาพ : Thon Thamrongnawasawat

ภาพ : Thon Thamrongnawasawat


การวางไข่ของเต่ามะเฟืองนั้น ได้ห่างหายไปจากประเทศไทยนานมากกว่า 5-6 ปีแล้ว โดยปรากฏการณ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของท้องทะเลไทย ที่จะต้องศึกษาและเข้าไปดูแล เพื่อให้เต่ามะเฟืองยังคงอยู่ในท้องทะเลไทยต่อไป

ส่วนนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ปกติพื้นที่วางไข่ของเต่ามะเฟืองในไทย จะอยู่ในพื้นที่ 3 แห่ง ประกอบด้วย หาดไม้ขาว อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต หาดท้ายเหมือง จ.พังงา และหาดประพาส จ.ระนอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรกในรอบ 5 ปีพบ"เต่ามะเฟือง" วางไข่ชายหาดเขาหลัก

สถานการณ์มลพิษปี 60 แม่น้ำ-ทะเล-อากาศคุณภาพดี แต่ขยะเพิ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง