หวั่นภูเขาไฟระเบิดซ้ำ! นักวิชาการ แนะเลี่ยงพื้นที่ประสบภัย

ภัยพิบัติ
23 ธ.ค. 61
18:12
2,774
Logo Thai PBS
หวั่นภูเขาไฟระเบิดซ้ำ! นักวิชาการ แนะเลี่ยงพื้นที่ประสบภัย
นักวิชาการ วิเคราะห์ สึนามิอินโดนีเซีย เกิดจากภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำ จนทำให้เกิดคลื่นที่เรียกว่า "Seiches" แนะประชาชนเลี่ยงพื้นที่ประสบภัย หวั่นเกิดเหตุระเบิดซ้ำ พร้อมยืนยันเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่กระทบไทย

วันนี้ (23 ธ.ค.2561) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรรัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก กล่าวถึงภัยพิบัติในอินโดนิเซีย กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลายคนคิดว่าสึนามิเกิดจากแผ่นดินไหว แต่จากข้อมูลกลับพบว่า สินามิเกิดก่อน และแผ่นดินไหวเกิดหลัง ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กและมีความลึกมาก จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย

ดังนี้ ข้อสรุปเบื้องต้น คือ 1.ตัดประเด็นที่คิดว่าแผ่นดินไหวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสินามิ อย่างที่เราคุ้นเคยออกไป และ 2.คำถามคือสึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นไปได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟระเบิดจนทำให้มีการถล่ม หรือภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำ ซึ่งทางวิชาการไม่เรียกคลื่นที่เกิดขึ้นว่า "สึนามิ"(Tsunami) แต่จะเรียกว่า "Seiches" เพราะลักษณะการเกิดขึ้น เป็นเหมือนคลื่นในอ่างเก็บน้ำ ที่เป็นเพราะการ "ถล่ม" (slide) ทั้งนี้ หากเกิดเพราะสาเหตุนี้จริง ก็มีความเสี่ยงที่ภูเขาไฟจะระเบิดได้อีก ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เพิ่งได้รับความเสียหายซ้ำอีก แต่จะไม่กระทบกับประเทศไทยเพราะอยู่ไกลกันมาก

ภูเขาไฟระเบิด ความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นอีก การเข้าพื้นที่ต้องระวัง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์แรงดันหรือการปะทุของภูเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่การเข้าพื้นที่เกิดเหตุเป็นเรื่องอันตรายและควรหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ในทางวิชาการไม่เรียกคลื่นที่เกิดขึ้นลักษณะ ไม่เรียก "คลื่นยักษ์" ที่เกิดจากการถล่มเพราะภูเขาไฟว่า "สึนามิ" (tsunami) แต่เรียกว่า "Seiches" 

รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า tsunami และ Seiches มีลักษณะคลื่นและความรุนแรงต่างกัน โดย tsunami จะเคลื่อนตัวเป็นคลื่นลูกใหญ่กระทบฝั่งแล้วไหลออก แต่ Seiches คือคลื่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ค่อยข้างปิด หรือ อ่าวปิด จึงทำให้คลื่นที่เคลื่อนตัวไปกระทบฝั่งแล้ว สะท้อนจากฝั่งและเคลื่อนกลับเข้าไปกระทบฝั่งซ้ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดซ้ำสูง และคลื่นอาจจะแรงขึ้น เนื่องจากการเสริมแรง (Resonance) ของคลื่นแต่ละลูกที่เกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของภูเขาไฟอานัก กรากาเตา และชายฝั่งทั้งลัมปุงและเซรัง จะพบว่าลักษณะอ่าวที่อยู่ทางฝั่งลัมปุง สอดคล้องกับหลักการในข้างต้น เพราะเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิดหรืออ่าวปิด นอกจากนี้ตามประวัติที่บันทึกการเกิดภัยพิบัติยังพบว่ามีภัยพิบัติลักษณะนี้บ่อยครั้งอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง