นักวิจัย ระบุ 2 สาเหตุ เกิดสึนามิอินโดนีเซีย

ภัยพิบัติ
24 ธ.ค. 61
16:11
4,547
Logo Thai PBS
นักวิจัย ระบุ 2 สาเหตุ เกิดสึนามิอินโดนีเซีย
นักวิจัยคาดสึนามิอินโดนีเซียเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ การระเบิดของภูเขาไฟอย่างรุนแรงทำให้เศษหินดิน เถ้าภูเขาไฟ และส่วนอื่น ๆ หล่นลงทะเลอย่างรวดเร็ว หรือการที่ภูเขาไฟปะทุอย่างรุนแรงอาจทำให้พื้นทะเลเกิดการทรุดตัวลงมาเหมือนเกิดดินถล่มใต้ทะเล

วันนี้ (24 ธ.ค.2561) ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการเกิดคลื่นสึนามิหลังการปะทุของภูเขาไฟอานัก กรากาเตา ในประเทศอินโดนีเซีย ว่าผู้คนสับสนเป็นอย่างมากว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะไม่มีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในบริเวณดังกล่าวและไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ 

ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีภูเขาไฟกรากาเตาที่ระเบิดจนหายไปเกือบทั้งเกาะในปี พ.ศ. 2426 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงถึง 45 เมตร ทำลายเมืองชายฝั่งโดยรอบและมีคนเสียชีวิตเกือบ 36,000 คน หลังจากที่เกิดการระเบิดขนาดใหญ่ภูเขาไฟกรากาเตาก็หายไปเกือบทั้งหมด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2470 พบว่าภูเขาไฟอานัก กรากาเตา ได้โผล่ขึ้นมาจากผิวน้ำอีกครั้ง โดยมีความสูงเพียง 9 เมตร หลังจากนั้นก็ขยายขนาดและความสูงมาเรื่อยๆ จนสูง 400 กว่าเมตร ในอดีตภูเขาไฟไม่มีการปะทุ แต่ปีนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เริ่มพบการประทุของภูเขาไฟและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ผศ.ดร.ภาสกร ระบุว่า ปรากฏการณ์สึนามิมักเริ่มต้นจากมวลน้ำในทะเลหรือมหาสมุทรถูกรบกวน และเคลื่อนที่ต่อไปในทะเลหรือมหาสมุทรเข้าสู่ชายฝั่งในที่สุด ถ้าน้ำกระเพื่อมครั้งแรกแรงคลื่นก็จะสูงและไปได้ไกล โดยมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลที่พื้นทะเลมีการยกตัวหรือทรุดตัวในแนวดิ่ง ดินถล่มหรือหินถล่มลงไปในทะเล ดินถล่มใต้ทะเล หรือแม้แต่อุกาบาตตกลงไปในทะเล

คาดสาเหตุมาจากการระเบิดของภูเขาไฟอย่างรุนแรง ทำให้เศษหิน ดิน เถ้าภูเขาไฟหล่นลงทะเลอย่างรวดเร็ว หรือการที่ภูเขาไฟปะทุอย่างรุนแรงอาจทำให้พื้นทะเลทรุดตัวลงเหมือนเกิดดินถล่มใต้ทะเล

เนื่องจากตะกอนทะเลตื้นๆ จะมีอายุน้อย ไม่จับตัวกันแน่น เมื่อถูกเขย่าก็ไหลลงมาได้ การเคลื่อนที่ของมวลใต้ทำให้น้ำกระเพื่อมเป็นจุดเริ่มต้นได้เช่นกัน ส่วนความสูงของคลื่นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศของหาดใกล้ฝั่งหรือลักษณะรูปทรงของอ่าวที่อาจจะทำให้คลื่นมีพลังงานสูงขึ้นได้ อ่าวที่โค้งเข้าหากันหรือเป็นช่องเล็กๆ ยาวๆ มักจะขยายให้คลื่นสึนามิแรงขึ้นด้วย ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

จากแผนที่ที่จัดทำโดยยูเนสโกจะพบว่า ในรอบประมาณ 400 ปี สึนามิในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริเวณใกล้เคียงเกิดจากแผ่นดินไหวเกือบทั้งหมด มีเพียงไม่กี่เหตุการณ์เกิดจากภูเขาไฟระเบิดหรือดินถล่มใต้ทะเล แต่ก็ยังต้องศึกษาความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพื่อวางแผนรับมือต่อไป เพราะแม้จะมีโอกาสเกิดน้อยแต่สร้างความเสียหายได้มากมาย สิ่งที่ประเทศไทยมีข้อมูลน้อยมากคือภัยสึนามิจากดินถล่มใต้ทะเล เพราะทางทิศตะวันตกจากชายฝั่งทะเลอันดามันมีความลาดชันมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยและเยอรมนีพบหลักฐานการเกิดดินถล่มขนาดเล็กในบริเวณนั้น แต่เราไม่มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะศึกษาได้อย่างละเอียดและครอบคลุมทั้งหมดถึงลักษณะของท้องทะเลลึกว่ามีโอกาสทำให้เกิดดินถล่มหรือสึนามิได้มากน้อยเพียงใด

ไทยต้องศึกษาความเสี่ยง "สึนามิจากดินถล่มลงทะเล"

ส่วนการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟและแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยพอร์ทส์มัธในอังกฤษ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิอีกครั้ง ผศ.ดร.ภาสกร ระบุว่า หากมีการปะทุใหญ่ไหลลงทะเลก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีก เนื่องจากอาจเกิดดินถล่มลงไปในทะเล ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ในประเทศไทยก็มีความเสี่ยงด้านสึนามิจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระยะไกลดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันเรามีระบบตรวจวัดการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้พอสมควร ความเสี่ยงจึงลดน้อยลง

ความเสี่ยงอีกอย่างที่ยังไม่เคยศึกษาคือ ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวมาก เรายังขาดการประเมินว่าถ้ามีแผ่นดินไหวขนาดปานกลางเกิดขึ้น จะเกิดดินหรือหินถล่มลงในทะเลและทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้มากน้อยเพียงใด เพราะคลื่นสึนามิแบบนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีทางแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ เราจึงจำเป็นต้องทราบความเสี่ยงเพื่อจะได้วางแผนรับมือได้อย่างถูกต้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง