สดร.ส่งความสุข "ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ" สื่อรักดาราศาสตร์

Logo Thai PBS
สดร.ส่งความสุข  "ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ" สื่อรักดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในสไตล์คนรักดาราศาสตร์ ด้วย "ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ" หนึ่งในผลงานจากกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ของ สดร. ประเทศออสเตรเลีย

วันนี้ (25 ธ.ค.2561) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในสไตล์คนรักดาราศาสตร์ ด้วย "ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ" ภาพต้นคริสต์มาสสีแดงขนาดใหญ่ที่เกิดจากแก๊สไฮโดรเจนในอวกาศ ประดับด้วยลูกบอลสีฟ้าแวววาวจากแสงของดาวฤกษ์เกิดใหม่ ตกแต่งปลายยอดต้นคริสต์มาสด้วยกรวยสีแดงคล้ำ

หนึ่งในผลงานจากกล้องโทรทรรศน์ในภาพนี้ คือ NGC 2264 เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของเนบิวลาแบบเรืองแสงขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นกระจุกดาวอายุน้อยและมีความสว่างมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง

ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ เอส โมโนซีโรทิส หรือ 15 โมโนซีโรทิสอยู่ในตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส ในขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ V429 โมโนซีโรทิส (V429 Monocerotis) อยู่ในตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปเป็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน 

ส่วนของเนบิวลารูปโคน และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปโคนคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังทำให้มันดูมีสีคล้ำกว่า

โครงสร้างรูปกรวยมีลักษณะคล้ายกับแท่นเสาแห่งการกำเนิด ที่อยู่ในบริเวณเนบิวลานกอินทรี หรือ M16) บริเวณกลุ่มดาวงู  เนบิวลารูปโคนที่เป็นแท่งสีคล้ำมีความกว้างประมาณ 7 ปีแสง ส่วนปลายมีกระจุกดาวเปิดประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยแต่สว่างกลุ่มหนึ่ง เรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายผลึกหิมะ บางครั้งจึงเรียกว่า สโนว์เฟลคคลัสเตอร์ 

ภาพนี้บันทึกและประมวลผลภาพโดย นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และนายกีรติ คำคงอยู่ ใช้กล้อง โทรทรรศน์ทางไกลอัติโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสดร.ติดตั้งที่หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง