ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เร่งเสนอเข้า สนช.

สังคม
26 ธ.ค. 61
06:54
806
Logo Thai PBS
ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เร่งเสนอเข้า สนช.
ครม.เห็นชอบเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ สนช.พิจารณา เพื่อให้กลุ่มคู่รักหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสาระสำคัญเพื่อให้คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน รวมถึงให้สิทธิยินยอมทางการแพทย์

วานนี้ (25 ธ.ค.61) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตตามที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อกำหนดให้คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ มีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลืออุปการะ เลี้ยงดูกัน รวมทั้งให้มีสิทธิในฐานะคู่ชีวิต เช่น สิทธิยินยอมรักษาพยาบาลและจัดการทรัพย์สิน โดยเริ่มต้นจากการรับรองสถานะและจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อรับรองสิทธิเบื้องต้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การสมรสที่เท่าเทียมกันต่อไป และจะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัวทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิและหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิต เพราะกฎหมายรับรองเฉพาะการจดทะเบียนสมรสของชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนและขัดต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน และเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐบาลจึงได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อรองรับการสร้างครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และยังเป็นการดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการผลักดันกฎหมายในลักษณะนี้

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตประกอบด้วย 6 หมวด 44 มาตรา มีการนิยามคำว่า "คู่ชีวิต" ให้หมายถึง บุคคล 2 คน ที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ คือไม่ใช่ระหว่างชายและหญิง โดยจะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องมีสัญชาติไทย ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยื่นคำร้องและความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน โดยให้คู่ชีวิตมีสิทธิในการจัดการทรัพย์สิน และจัดการหนี้สิน ร่วมกันหลังจดทะเบียนและยังมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิตโดยให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้ หากคู่ชีวิตเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้มีคู่ชีวิตเป็น ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ รวมทั้งมีการปรับปรุงให้คู่ชีวิตสามารถมีสิทธิในการยินยอมให้รักษาพยาบาล และจัดการงานศพได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีข่าว ครม.ผ่านร่างกฎหมายคู่ชีวิต ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มหลายเพจ โดยมีการสรุปสาระสำคัญของกฎหมาย และขั้นตอนการพิจารณากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มความหลากหลายทางเพศช่วยกันติดตามการพิจารณากฎหมายดังกล่าว รวมทั้งผลักดันประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่มีในร่างกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับดูแลบุตรบุญธรรม หรือการรับดูและบุตรที่ติดมากับคนใดคนหนึ่ง เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง