ไม่ปกติ ! พายุปาบึกเข้าใต้เดือนม.ค.นี้ห่วงแรงเท่า "แฮเรียต"

ภัยพิบัติ
2 ม.ค. 62
09:37
82,280
Logo Thai PBS
ไม่ปกติ ! พายุปาบึกเข้าใต้เดือนม.ค.นี้ห่วงแรงเท่า "แฮเรียต"
กรมอุตุนิยมวิทยา ประสานท้องถิ่นรับมือพายุปาบึก จ่อเข้าถล่มภาคใต้ของไทย ช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ ระบุไม่ปกติเกิดพายุโซนร้อนในเดือนม.ค.ห่วงผลกระทบเทียบพายุโซนร้อนแฮเรียต ในปี 2505 ที่เคยพัดถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายแต่เชื่อระบบรับมือ

วันนี้ (2 ม.ค.2562)ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีประกาศเตือนพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งขณะนี้มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค.นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ 

ขณะนี้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่น 15 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย และท้องถิ่นที่มีการคาดการณ์ว่าพายุปาบึกจะเคลื่อนตัวเข้าฝั่งอ่าวไทยในช่วงวันที่ 4 ม.ค.นี้ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง และภาวะน้ำท่วม ซึ่งไม่อยากให้เกิดความแตกตื่นมาก

โดยเฉพาะกรณีข่าวการอพยพคนจากแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทย เป็นขั้นตอนการปฎิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่ต้องอพยพคนจากแท่นขุดเจาะก่อน เพราะหากพายุเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้แท่นขุดเจาะจะอพยพไม่ทัน ส่วนการอพยพประชาชนจังหวัดบริเวณชายฝั่ง ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ต้องให้ทางท้องถิ่นเป็นคนประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ 

 

ชี้พายุเดือนม.ค.ไม่ปกติห่วงเทียบ "แฮเรียต" 

นายภูเวียง กล่าวว่า พายุปาบึก เป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่จะพัดเข้าอ่าวไทยในช่วง 50 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเดือนธ.ค.2561 มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พัฒนาเป็นดีเปรสชันเคลื่อนเข้าภาคใต้ และทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ยังไม่พัฒนาเป็นพายุโซนร้อน 

กรณีที่จะมีพายุเข้ามาในช่วงเดือนม.ค.นี้ ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่ทำให้พายุเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในช่วงเดือนนี้ได้ชัดเจน ต้องวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้ง เพราะส่วนใหญ่พายุจะเกิดช่วงเดือนพ.ย.-ถึงธ.ค.

สาเหตุสำคัญการเกิดพายุลูกนี้มาจากลักษณะของอากาศและผิวน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน

 

เมื่อถามว่าประเมินว่าพายุปาบึก จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน นายภูเวียง กล่าวว่า ถ้าเทียบระดับพายุโซนร้อนที่เคยมีผลกระทบกับภาคใต้ของไทย น่าจะเท่ากับพายุแฮเรียต ที่เคยเข้าที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 แต่ย้ำว่ายังต้องติดตามเป็นรายชั่วโมงว่าพายุปาบึก จะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันเมื่อขึ้นฝั่งหรือไม่ แต่ก็ยังทำให้มีฝนตกหนัก และอาจเกิดน้ำท่วมในวงกว้างได้ขณะที่การเตรียมรับมือพายุแฮเรียตในตอนนั้น กับวันนี้แตกต่างกันระบบเตือนภัยจะมีความพร้อมและรวดเร็วกว่า  

ส่วนกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ยังไม่ประกาศว่าหย่อมความอากาศต่ำกำลังแรงจะพัฒนาเป็นพายุทันที เนื่องจากต้องติดตามทิศทาง และใช้ข้อมูลทางวิชาการมาประมวลผล ซึ่งช่วงแรกพบว่าพายุยังมาไม่ถึงและทิศทางเหวี่ยงซ้ายที ขวาที ยังไม่มีทิศทางมุ่งตรงมาที่ประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสที่จะอ่อนกำลังหรือแรงขึ้นได้ จึงยังไม่ได้ประกาศเตือนทันที 

 

 

 

ชี้ 16 จังหวัดภาคใต้ได้รับผลกระทบ 

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ทั้งนี้คาดการณ์ว่าพายุปาบึกจะขึ้นฝั่งบริเวณจ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร หรือรอยต่อระหว่างจ.ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมวลอากาศเย็นที่อ่อนกำลังลงไป โดยในช่วงบ่ายวันนี้ จะเริ่มมีกลุ่มฝนเข้ามาบริเวณภาคใต้ ส่วนวันพรุ่งนี้ (3 ม.ค.) พื้นที่จะได้รับผลกระทบจะมีมากขึ้น สำหรับจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง เพราะจังหวัดเหล่านี้เกิดน้ำท่วมมาแล้วก่อนหน้านี้ ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อม

ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.00 น.กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 8 พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค.นี้

โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจะเกิดน้ำทวมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย โดยมีผลกระทบดังนี้

ในช่วงวันที่ 3-4 ม.ค.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

 

 

ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค.นี้ บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 2-5 มกราคม 2562

 

 

สำหรับพายุแฮเรียต เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชั่น ในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2505 แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่งจ.สงขลา จากนั้นก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายังจ.นครศรีธรรมราช

โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ต.ค.2505 ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อชั่วโมง หลังจากนั้นพายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ต.ค.2505 ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ต.ค.2505 พายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อพยพ จนท.แท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทยขึ้นฝั่งหนีพายุปาบึก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง