นายกรัฐมนตรี สั่งการผู้ว่าฯ 16 จังหวัด รับมือ "ปาบึก"

ภัยพิบัติ
3 ม.ค. 62
18:47
434
Logo Thai PBS
นายกรัฐมนตรี สั่งการผู้ว่าฯ 16 จังหวัด รับมือ "ปาบึก"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชุมวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ สั่งการ 16 ผู้ว่าราชการจังหวัด เตรียมแผนรับมือพายุโซนร้อนปาบึก เร่งอพยพประชาชนเข้าพื้นที่ปลอดภัย กำชับกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจน ไม่ให้คนในพื้นที่ตื่นตระหนก

วันนี้ (3 ม.ค.2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ จากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ว่าราชการ 14 จังหวัดภาพใต้ และ 2 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง เพื่อติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก พร้อมสั่งการไปถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยตรง 


ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกต่อนายกรัฐมนตรีว่า สถานการณ์พายุมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ห่างจากฝั่งตะวันออกของ จ.ปัตตานี ประมาณ 300 กิโลเมตร ห่างจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.ปากพนัง ประมาณ 400-500 กิโลเมตร


การเคลื่อนตัวของพายุ ณ ขณะนี้เคลื่อนไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเคลื่อนตัวของพายุคาดว่าจะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ส่วนพลังของพายุ ณ ปัจจุบัน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางของพายุ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าตอนนี้พายุอยู่ในทะเลพลังก็จะมากขึ้น และคาดว่าจะมีพลังมากขึ้นอีกเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ภาคใต้ของประเทศไทย สถานการณ์ ณ ขณะนี้ เบื้องต้น คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งแนว อ.ปากพนัง อ.สิชล ใน จ.นครศรีธรรมราช 

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักพํฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสด้า) ระบุว่า ความสูงคลื่นในทะเล ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางพายุ มีความสูงประมาณ 3 เมตร ส่วนชายฝั่งทั่วไปขณะนี้มีความสูงคลื่นอยู่ที่ 1-2 เมตร แต่เชื่อว่าหลังจากพายุเคลื่อนเข้ามาคลื่นจะสูงขึ้นและจะเกิดปัญหาน้ำทะเลหนุน เนื่องจากตัวพายุดูดน้ำเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ลุ่มใกล้ชายฝั่งด้วย


ทุกหน่วยงานพร้อมรับ พายุโซนร้อนปาบึก

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ได้ประเมินว่าเมื่อพายุเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ ความเร็วลมอาจจะพัฒนาเป็น 95 – 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคลื่นอาจจะสูง 3-5 เมตร อีกปัญหา คือ ปริมาณฝนที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ที่อาจสูงถึง 300 มิลลิเมตรในพื้นที่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นน้ำท่วมขัง และน้ำไหลหลาก และดินถล่ม

ขณะนี้ทุกจังหวัดภาคใต้ และภาคกลางตอนล่าง คือ จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดตั้งกองบัญชาการภัยพิบัติ และกองอำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ของเหล่าทัพ และหน่วยงานอื่นๆ และให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามและรายงานสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกอย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้ ได้มีการประกาศงดเดินเรือในพื้นที่เสี่ยง และเตรียมอพยพนักท่องเที่ยวที่อยู่บนเกาะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงภัยออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเช้าวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.)

ในช่วงแรกพายุจะเข้าในช่วงภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส แล้วจะเคลื่อนมาทางเหนือเข้าที่ จ.ชุมพร ซึ่งขณะนี้ประชาชนบางพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช ได้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว

ถ้าไม่เริ่มทำ แล้วมีพายุเข้ามาเต็มที่ คงไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ตกใจ เป็นการป้องกันไว้ เพื่อลดความเสี่ยง ที่จะขนคนไปไว้ที่ศูนย์พักพิง


พล.อ.อนุพงษ์ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมพร่องน้ำจากเขื่อน โดยได้มีการระบายน้ำไปแล้วส่วนหนึ่งแต่ก็เน้นย้ำให้คำนึงถึงปริมาณน้ำที่จะใช้ในหน้าแล้งไว้ด้วย เนื่องจากเมื่อพายุเข้ามาทำให้ปริมาณน้ำฝนมาก ส่งผลให้น้ำระบายลงทะเลไม่ทันจนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เตรียมแก้ไขปัญหากรณีไฟฟ้าดับ หรือในกรณีที่จำเป็นต้องดับไฟ โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

นายกฯ กำชับให้ข้อมูลรอบด้าน ห่วง ปชช.แตกตื่น

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการปฏิบัติการ ขอให้ทำงานโดยยึดหลักพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มีการเตรียมแผนงาน เมื่อถึงเวลาก็จะแก้ไขปัญหาได้ทันที พร้อมย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลด้านความเป็นอยู่ อาหารการกินและสาธารณูปโภคของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาน้ำกัดเท้า ขอให้เร่งระบายน้ำและพร่องน้ำให้ดีที่สุด 


นอกจากนี้ ควรมีการสำรวจความแข็งแรงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เพื่อซ่อมแซมให้แข็งแรงเตรียมพร้อมรับน้ำ และต้องเตรียมเครื่องมือทางน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเรือท้องแบนไว้ให้พร้อม รวมทั้งประสานมูลนิธิในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจน ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นต้องแจ้งประชาชนให้รับทราบ เพื่อให้มีการเตรียมการอพยพได้อย่างทันท่วงที ต้องเตรียมป้องกัน แก้ไข และพื้นฟู ช่วยให้ประชาชนไทยปลอดภัยมากที่สุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง