ยังไม่ถึงเวลา ! ประกาศเขตควบคุมมลพิษ กทม.หลังฝุ่นพิษพุ่ง

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 62
18:30
899
Logo Thai PBS
ยังไม่ถึงเวลา ! ประกาศเขตควบคุมมลพิษ กทม.หลังฝุ่นพิษพุ่ง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่กทม.หลังค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐานต่อเนื่อง ชี้มีแผนรองรับร่วมกับหน่วยงานทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ด้านกทม.กำชับล้างทำความสะอาดถนนตามแนวรถไฟฟ้าเช้า -กลางคืน กำหนดห้ามรถบรรทุกเข้าเมือง

วันนี้ (14 ม.ค.2562) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กองบังคับการตำรวจจราจร

ทั้งนี้กทม.มีแผนระยะสั้นสั่งให้สำนักงานทั้ง 50 เขต หมั่นล้างทำความสะอาดถนนทางเท้า และตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าต่อเนื่องทุกช่วงเช้าและกลางคืน พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำในอากาศ เพื่อลดฝุ่นละอองเป็นประจำทุกวัน แม้จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง

 


ขณะเดียวกันในการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของ กทม.ได้ให้สำนักงานเขตและสำนักการโยธาให้เคร่งครัดกับผู้ประกอบการก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างรถไฟฟ้า อุโมงค์และสะพานข้ามทางแยก ให้มีมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง ห้ามเผาหญ้าหรือขยะในที่โล่งแจ้งเด็ดขาด รวมถึงมาตรการควบคุมการเดินรถบรรทุก ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 05.00-09.00 น. และเวลา 15 .00- 21.00 น.พร้อมทั้งเตรียมหน้ากากอนามัยจำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อแจกให้กับประชาชนในวันนี้

 

 

ยังไม่วิกฤตเข้าข่ายประกาศเขตควบคุมมลพิษ 

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า สถานการณ์ PM 2.5 สูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่พบว่า ในช่วง 2 วันนี้ดีขึ้นเล็กน้อย ความอันตรายของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หากเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตรายต่อสุขภาพ

ซึ่งแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนใหญ่ร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำท่อไอเสียรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ร้อยละ35 เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง และร้อยละ 5-10 เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม


กทม.มีรถยนต์ 9.8 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ล้านคัน ดังนั้นการตรวจจับควันดำที่มีค่าเกินมาตรฐาน จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ส่วนแผนระยะยาวได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซล เป็น B20 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดให้มากขึ้นมากขึ้น และหากรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จในอีก 2 ปีครึ่ง ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุอีกว่า การวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ของประเทศไทยกำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่างจากองค์การอนามัยโลก ที่กำหนดค่าไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะบริบทต่างกัน เช่น ประเทศไทยใช้ระบบเครื่องยนต์ยูโร 3 และยูโร 4 แต่ในต่างประเทศใช้ระบบเครื่องยนต์ยูโร 6

ขณะที่ยังไม่จำเป็นต้องประกาศพื้นที่ กทม.เป็นเขตควบคุมมลพิษ จากปัญหาฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน เพราะต้องดูจากปัจจัยหลายอย่างประกอบ เพราะอาจจะกระทบกับหลายส่วนทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และเชื่อว่ายังไม่ถึงกรณีพื้นที่อื่นๆที่เคยประกาศไปเช่น มาบตาพุด จ.ระยอง แก่งคอย-หน้าพระลาน จ.สระบุรี แม้ว่าค่ามลพิษจากฝุ่นละออง จะมีปัญหาทุกปี 

เชื่อว่ายังอยู่ในขั้นตอนที่แก้ปัญหาได้ ไม่ถึงขั้นต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษกทม. ถึงแม้จะมีฝุ่นมลพิษ มีปัญหาทุกๆ ปีมาหลายปีต่อเนื่อง แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มาจากปัจจัยจากความกดอากาศสูงลงมาเป็นระยะ 

 

 

ชี้ไทยมีแผนระยะสั้น-ยาวรองรับปรับมาตรฐานรถ

นายประลอง กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนมีการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาวรองรับ ที่มาจากการปรับการใช้รถใหม่ๆแทนรถเก่าๆ ซึ่งการองค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐานไว้สูง ทำให้ต้องมีการตั้งค่าชี้วัดอื่นๆ สูงตามไปด้วย เช่น ยุโรปใช้รถยูโร 6 แต่ไทยยังใช้ยูโร 3 ซึ่งไทยก็ดำเนินการมาตามขั้นตอนแล้ว แต่ต้องเข้าใจประกอบการและบริบทอื่นๆด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่แก้ปัญหา

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติการช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจะต้องติดตามสภาพอากาศและศึกษาถึงความเป็นไปได้ คาดว่าในระหว่างวันที่ 16-18 ม.ค.นี้ มีแนวโน้มที่จะสามารถทำฝนหลวงได้

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอแน่! กักตุนหน้ากากกันฝุ่นโทษจำคุก 7 ปีปรับ 1.4 แสนบาท

ทอ.ส่งเครื่องบิน BT-67 บินโปรยน้ำลดฝุ่นละออง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง