ทั่วโลกชมเต็มตา "พระจันทร์สีเลือด" ครั้งแรกของปี 62

Logo Thai PBS
ทั่วโลกชมเต็มตา "พระจันทร์สีเลือด" ครั้งแรกของปี 62
ทั่วโลก ได้ชมเต็มตา Super Blood Moon หรือจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปีนี้ ส่วนไทยคืนนี้ พระจันทร์เต็มดวงใกล้โลก เห็นขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย จากนั้นรอชมดาวเคียงเดือน วันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ.นี้

วันนี้ (21 ม.ค.2562) ช่วงเช้าที่ผ่านมาทางซีกโลกตะวันตก มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี และเห็นพระจันทร์สีแดงอิฐ ส่วนไทยแม้จะไม่ได้อยู่ ในแนวคราส แต่ค่ำคืนนี้จะเห็นพระจันทร์เต็มดวง ใกล้โลกที่ระยะกว่า 356,000 กิโลเมตร จะเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

ผู้คนในหลายทวีปตั้งแต่อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เช่น เดียวกับตะวันตกของทวีปยุโรป รวมทั้งสหราชอาณาจักร แอฟริกาเหนือ ทางตะวันออกของแปซิฟิก และตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย จะได้เห็นการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เห็นพระจันทร์สีแดงอิฐ หรือ พระจันทร์สีเลือด หรือ ซูเปอร์ บลัด วอล์ฟ มูน ( super blood wolf moon )

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เริ่มเกิดขึ้นในเวลา 20.35 น.ของเช้าวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.นี้ ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ช้ากว่าประเทศไทย 7 ชั่วโมง และสิ้นสุดในเวลา 07.49 น. โดยปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือด จะเกิดขึ้นตอนเวลา 05.12 น. และมีการถ่ายทอดสดของสำนักข่าวหลาย ๆ สำนัก

ปรากฏการณ์พระจันทร์สีแดงอิฐ เป็นปรากฏการณ์ ขณะเกิดจันทรุปราคาแบบเต็มดวง ขณะที่ดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนที่เข้าไปในเงามัวของโลก ซึ่งดวงจันทร์จะค่อยๆ มืดลง แต่ขณะนั้นดวงจันทร์จะไม่มืดทั้งดวง เพราะยังมีแสงอาทิตย์บางส่วนส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก เฉพาะแสงช่วงคลื่นสีแดง ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดง

คืนนี้พระจันทร์ใกล้โลก-ดาวเคียงเดือน" 31 ม.ค.-1 ก.พ.นี้

แต่สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้อยู่ในแนวคลาสผ่าน แต่คืนนี้ยังเห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์เด็มดวงใกล้โลก นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ในระยะประมาณ 357,706 กิโลเมตร แม้ยังไม่ใช่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

แต่สามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงสว่างและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย แต่เราจะเห็นดวงจันทร์จะเต็มดวงและเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 356,836 กิโลเมตร ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ จะทำให้ผู้สังเกตการณ์บนโลก จะเห็นดวงจันทร์ ขนาดใหญ่และสว่างกว่าปกติ  

 

 

นอกจากนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังชวนชมความงาม 3 ดาวสว่างเด่น ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวแอนทาเรส ช่วงเช้ามืด 22-24 ม.ค.นี้ จากนั้นรอชมดาวเคียงเดือน วันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ.นี้ ดาวพฤหัสบดี - ดาวศุกร์เคียงดวงจันทร์เสี้ยว สังเกตได้ตั้งแต่ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เห็นชัดด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง