ตัวแรก "แร้งหิมาลัยสีน้ำตาล" เจอฝุ่นพิษ บินตก กทม.

สิ่งแวดล้อม
23 ม.ค. 62
16:16
16,216
Logo Thai PBS
ตัวแรก "แร้งหิมาลัยสีน้ำตาล" เจอฝุ่นพิษ บินตก กทม.
สัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ รักษาแร้งหิมาลัยสีน้ำตาล พลัดตกในเขตกทม.ตัวแรก สันนิษฐานเจอสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม จากฝุ่นพิษ ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา และยังเจอภาวะโลหิตจาง ค่าตับสูง โปรตีนในเลือดต่ำ คาดจากการอดอาหารนาน เร่งฟื้นฟูก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ

วันนี้ (23 ม.ค.2562) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ และสัตว แพทย์ ฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ตรวจสุขภาพแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ที่พลัดตกอยู่ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 3 หนอง แขม เขตบางแค กรุงเทพฯ และถูกส่งตัวมาที่คลินิกสัตว์ป่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ม.ค.นี้

โดยสันนิษฐานว่าพลัดหลงมาเจอสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาอาการโคม่า เจ้าหน้าที่เวรได้ให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนัง และอบไฟให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและให้อยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเท

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

จากนั้นวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า ให้น้ำเกลือเข้าเส้น และฉีดยาบำรุงให้แก่สัตว์ การเจาะเลือดส่งตรวจ และวัดระดับของออกซิเจนในกระแสเลือดโดยใช้เครื่อง pluse oximeter พบว่านกแร้งสามารถยืน และเริ่มกินเนื้อหมูเองได้

ต่อวันที่ 22 ม.ค.นี้ ช่วงเช้าได้ให้สารน้ำ วิตามิน ทางเส้นเลือด และกินซี่โครงไก่ นกแร้งสามารถจิก ฉีก เนื้อกินได้เองตามปกติ ปริมาณอ๊อกชิเจนในเลือดอยู่ในระดับปกติ

ล่าสุดวันนี้ ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดตัว ตรวจสุขภาพ เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจโรค ให้สารน้ำ ออกซิเจน หยดยากำจัดพยาธิภายนอก และอาบแดด รวมถึงการปรับเปลี่ยนอาหารจากซี่โครงไก่ เป็นเนื้อวัวสดคลุกกับวิตามินต่างๆ

 

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

ทั้งนี้แม้ว่าแร้งจะลุกขึ้นยืนได้ กินอาหารได้เองแล้ว ทางกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ยังต้องดูแลอย่างไกลชิดและประสานงานการดูแลร่วมกันกับศูนย์ฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน)

สัตวแพทย์ภัทรพล ระบุว่า แร้งหิมาลัยสีน้ำตาลตัวนี้คาดว่าอายุประมาณ 5-7 ปี กำลังเข้าสู่ระยะโตเต็มวัย เรื่องประสบการณ์ในการบินอพยพ อาจมีไม่มาก พลัดหลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอาหาร จากการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเกิดภาวะโลหิตจาง ค่าตับสูงและโปรตีนในเลือดต่ำ คาดว่าเกิดจากการอดอาหารเป็นเวลานาน และมีการใช้กำลังของกล้ามเนื้อมากเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางการบินอพยพของแร้ง ที่ผ่านมานั้นไม่มีแหล่งอาหาร เช่น ซากสัตว์ เป็นต้น

 

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

นอกจากนี้ปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจส่งผลต่อเส้นทางการบินอพยพและสุขภาพ เช่นระบบทางเดินหายใจ ตัวที่โตเต็มวัยหรือมีประสบการณ์ในการบินอพยพก็จะบินหลีกเลี่ยงพื้นที่มลพิษ

 

 

ด้าน น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กล่าวว่า ช่วงที่ได้รับแจ้งว่าเจอแร้งตัวนี้ร่างกายอ่อนแรง อาการหนักมาก และตกลงมาในระหว่างทางที่บินมาจากทางเทือกเขาหิมาลัย ต้องใช้พลังงานสูง ในระหว่างทางไม่มีอาหารและซากสัตว์ให้กิน จึงบินตกในเขต กทม.เป็นครั้งแรก

ปกติในไทยจะเจอแร้งอพยพบินตกทุกปี ส่วนใหญ่เจอในภาคใต้ ปีนี้ช่วงพายุปาบึกเข้ามาเจอแร้ง 1 ตัว แล้ว ส่วนตัวนี้พบครั้งแรกตกใน กทม.จากนี้จะส่งให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกันฟื้นฟูจนแข็งแรง และก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอาจจะเป็นช่วงพ.ค.นี้  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง