"เลิศศักดิ์" นำพรรคสามัญชนเปิด 4 วิสัยทัศน์

การเมือง
29 ม.ค. 62
19:49
889
Logo Thai PBS
"เลิศศักดิ์" นำพรรคสามัญชนเปิด 4 วิสัยทัศน์
เปิด 4 วิสัยทัศน์พรรคสามัญชน ขจัดเหลื่อมล้ำ 4 ด้าน “การเมือง - เศรษฐกิจแรงงาน - สังคมวัฒนธรรม - สิ่งแวดล้อม” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ประกาศพร้อมส่ง ส.ส.อย่างน้อย 17 เขต - 5 บัญชีรายชื่อ ย้ำ ต้องลงพื้นที่หนัก หวังรวมคะแนนให้ได้ 1 ที่นั่ง

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน พรรคสามัญชน นำโดย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน นักวิชาการอิสระที่ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคสามัญชน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของพรรค ที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ขจัดความเหลื่อมล้ำ 4 ด้าน

  1. ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ด้วยการกระจายอำนาจ สร้างพื้นที่ของประชาชน กำหนดอนาคตของตนเอง
  2. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและแรงงาน ด้วยการกระจายอำนาจการผลิต หลักประกันทางเศรษฐกิจ ปกป้องที่ดินทำกิน
  3. ความเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรม และความรู้ ด้วยการเปลี่ยนรัฐเผด็จการ ให้เป็นรัฐสวัสดิการ
  4. ความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างประชาธิปไตยทางอากาศ อาหาร และน้ำ

 

 

นายเลิศศักดิ์ ระบุถึงความจำเป็นที่ตัวแทนกลุ่มประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม ต้องจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมา พรรคการเมืองมีเพียงเสนอนโยบายว่า จะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ไม่เคยบอกว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคสามัญชน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนธรรมดา เสนอตัวเป็นผู้เล่นในสภา ที่ยังคงบทบาทนอกสภาควบคู่กับการเมืองในสภา ที่ผ่านการทำงานทางความคิดเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 และยิ่งเด่นชัดขึ้น ตลอดระยะ 5 ปี ภายใต้อำนาจของ คสช.

เมื่อเข้าสู่บรรยากาศการแข่งขันในสนามการเมืองอย่างเต็มตัว ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้ใช้เวลาสั้นๆ สนทนากับหัวหน้าพรรคสามัญชน หลังการประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

สามัญชน พร้อมแค่ไหนกับการเลือกตั้ง

ก็พร้อมเลือกตั้งนะครับ แต่ก็งงๆ อยู่ ว่าเลื่อนไปเดือนเดียว จะเลื่อนทำไม จริงๆ เราพร้อมเลือกตั้งตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แล้ว ตอนนี้พรรคสามัญชนน่าจะส่งผู้สมัครลงประมาณ 27 ถึง 30 เขตทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคว่าจะได้ทั้งหมดกี่เขต ที่แน่นอนแล้วอย่างน้อยส่ง 17 เขตเลือกตั้ง

เป้าหมายของพรรคสามัญชน ก็คือการรวบรวมคะแนนจากผู้สมัครเขต โดยหวังว่าจะได้หนึ่งปาร์ตี้ลิสต์ หนึ่งบัญชีรายชื่อ ในส่วนของ ส.ส.เขตนั้น ไม่มั่นใจนัก อาจได้คะแนนสูงเป็นบางเขต แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะชนะหรือเปล่า เป้าหมายตอนนี้ คือ รวมคะแนนเขตมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์

ที่บอกว่าอาจส่ง ส.ส. 27 ถึง 30 เขต ประเมินพื้นที่อย่างไร

เป็นพื้นที่ที่เราทำงาน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พรรคสามัญชนไปทำงานกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ ต่อสู้กับโครงการพัฒนาต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น เป็นเครือข่ายพื้นที่ชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะในชนบท ก็จะมีบ้างในเขตเมือง เช่น เมืองขอนแก่น เมืองเลย หรือพื้นที่ที่กำลังมีการแย่งยึดที่ดินเพื่อสร้างโรงงานน้ำตาล หรือ โรงไฟฟ้าชีวมวล นี่คือพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคสามัญชนมาแต่เดิม

กับการถูกมองว่าเป็นพรรคของเอ็นจีโอ ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้าน มีประชาชน ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เจ้าของปัญหาอยู่แล้ว จะมีเกณฑ์คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตอย่างไร

เราใช้ทั้งกระบวนการของพรรค และกระบวนการตามกฏหมายพรรคการเมือง ตามกฎหมายเลือกตั้ง การที่จะส่ง ส.ส.เขตได้ จะต้องมีการประชุมสรรหา มีการประชุมวิสามัญเพื่อสรรหาตัวผู้สมัคร ส่วนใหญ่มาจากการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่ ดูว่าแต่ละเขตจะส่งใครเป็นผู้สมัคร เราไม่สามารถไปชี้ได้ว่าใครสมควรเป็นผู้สมัคร เป็นการตัดสินใจของพื้นที่เอง

27 ถึง 30 เขต ระบุจังหวัดได้แล้วหรือยัง

จังหวัดเลย หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ลำปาง อาจรวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย แต่ต้องประเมินอีกที เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้สมาชิกพรรคมากพอที่จะส่ง ส.ส. ได้หรือเปล่า

ถาม หากเป็นพื้นที่ทำงานของพรรคสามัญชน การได้คะแนนจากคนในพื้นที่คงไม่ยาก แต่ในการเลือกตั้งอาจจำเป็นต้องอาศัยเสียงจากคนทั้งประเทศ มีวิธีทำงานกับกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นมวลชนจัดตั้งอย่างไร

ต้องบอกว่าเราเป็นพรรคการเมืองใหม่ เป็นน้องใหม่มากๆ นี่คือโจทย์ใหญ่ของเรา การสร้างความเข้าใจ สร้างความรู้จัก ให้พรรคสามัญชนขยายไปในพื้นที่ใหม่ๆ ให้มากขึ้น เป็นแผนงานหนึ่งที่เราต้องทำ

ที่ผ่านมาก็เดินสายไปประชุม ไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราไม่เคยทำงานด้วย ไปทำความรู้จักกับพี่น้องภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็ไปมาหลายจังหวัด แม้ไม่ใช่พี่น้องชาวบ้านที่เราทำงานด้วยมาแต่เดิม ก็ถือโอกาสเข้าไปทำความรู้จัก ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เราทำงานอย่างเดียว ด้านสิทธิเด็ก สิทธิสตรี เราก็ขยายตัวออกไป

จะมีโอกาสได้เห็นพรรคสามัญชนไปเดินแนะนำตัวเหมือนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองอื่นๆ ไหม

ไม่ชอบแบบนั้น รู้สึกว่าเป็นวิธีการเข้าหาเป้าหมายที่ไม่ค่อยได้ผล คือ ก่อนเราจะมาเป็นพรรคการเมือง เราทำกิจกรรมทางสังคม เวลาเราเห็นภาพแบบนั้นแล้วเรารู้สึกรังเกียจ ไม่ค่อยชอบ รู้สึกเป็นความสัมพันธ์ผิวเผิน แค่สวัสดีกัน แจกใบปลิว แต่ที่ผ่านมา พรรคสามัญชนพยายามทำความสัมพันธ์ระดับลึกกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ แต่พอมาเป็นพรรคการเมือง เรารู้สึกว่าอยากจะทำอีกแบบ

เช่น เราอาจจะใช้วิธีเดินทางไกล ใช้ระยะทางสัก 400 - 500 กิโลเมตร เพื่อทำความรู้จักกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ สองข้างทาง เป็นคาราวานสามัญชน ที่พยายามสร้างรูปแบบการประชุมกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็น นำมาจัดทำเป็นนโยบาย เรารู้สึกว่าเราถนัดรูปแบบนี้มากกว่า ในเวลาหนึ่งเดือนกว่าๆ ที่เรามีโอกาสหาเสียงเลือกตั้ง บางทีเราอาจต้องใช้วิธีนี้มากกว่าแค่เดินไปแจกใบปลิวตามตลาด ตามห้างร้านต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ชอบ

พรรคสามัญชนเคยทำงานด้านนโยบาย ด้วยการทำข้อเสนอถึงพรรคการเมือง แล้วพบบทเรียนว่าพรรคการเมืองรับปากแต่ไม่ทำ เมื่อมาเป็นผู้เล่นเอง มีวิธีทำงานอย่างไร

นี่คือความหวังของสามัญชน เมื่อเราเห็นแบบนั้น ที่ผ่านมาเป็นพรรคการเมืองของคนอื่น ซึ่งเราก็หวังพึ่งพามาตลอด ถ้าเรารู้จัก มีสายสัมพันธ์ที่ดี เราก็อาจจะรู้จักระดับหัวหน้าพรรค ระดับรองหัวหน้าพรรค ระดับผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจในพรรคนั้นๆ เพื่อจะนำเสนอร่างกฎหมายของเรา นำเสนอนโยบายของเรา และเขาก็อาจให้ความสำคัญ

แต่เวลานำเข้าสภาทีไร เราพบเสมอว่าร่างกฎหมายนั้นๆ ถูกแก้ไขเนื้อหาจนเละเทะไปจากเจตนารมณ์เดิม เราจึงอยากสร้างพรรคการเมืองของเราเอง อยากทดลองอีกแบบหนึ่ง

หากเป็นพรรคการเมืองของเราเอง ถ้ามี ส.ส.ของเราเองเข้าไปทำงานในสภา เราเสนอร่างกฎหมายของเราเอง อาจจะทำให้ร่างกฎหมายที่เราเสนอไม่ถูกแก้ไขจนเละเทะมากเกินไป เราคงต่อสู้กัน ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน นี่คือพัฒนาการทางความคิดของขบวนการประชาชน ที่อยากทำพรรคการเมือง เพื่อจะมีพรรคการเมืองของเราเอง มีที่นั่งของเราเอง เพื่อให้ร่างกฎหมายที่เราเสนอไม่ถูกแก้ไขจนเละเทะมากเกินไป

หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีสามัญชนได้เข้าไปนั่งในสภา อย่างน้อย 1 ที่นั่ง คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง

จะตั้งกระทู้ปัญหาของชาวบ้านทุกๆ วัน ปัญหาการละเมิดสิทธิเกี่ยวกับโครงการพัฒนา เกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐและทุนต่างๆ เราจะหยิบยกมาตั้งกระทู้ถามสดทุกๆ วันในสมัยประชุมสภา เช่น ปัญหาเรื่องเขื่อน ปัญหาเรื่องเหมืองแร่ ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ ปัญหาเรื่องการพัฒนาชายฝั่ง ปัญหาเรื่องประมงพื้นบ้าน ปัญหาการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง

นี่คือหัวใจของสามัญชน ที่จะหยิบยกปัญหาชาวบ้าน รวมถึงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ

นอกจากนั้น เราจะพยายามประสานประโยชน์ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วมกันนำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เหลื่อมล้ำด้านการเกษตร การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เราจะพยายามร่างกฏหมายเหล่านี้ขึ้นมา แล้วนำเสนอกับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่าเขาซื้อเราไหม ถ้าซื้อ ก็จะมาลงชื่อร่วมกัน เพราะในความเป็น ส.ส.ต้องมีอย่างน้อย 20 รายชื่อจึงจะเสนอร่างกฎหมายได้ สมมุติถ้าเราได้ 1 เสียง เราต้องหาอีก 19 รายชื่อ เป็นต้น

และเราคงนำร่างกฎหมายต่างๆ นำเสนอสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันนอกสภา เพื่อให้ทางสาธารณะกดดันพรรคการเมืองที่ใหญ่โตกว่าเรา

ปกตินักการเมืองจะกลัวเอ็นจีโอ ครั้งนี้คิดว่าเราจะทำงานคู่กันไปกับนักการเมืองในสภาคนอื่นๆ ยังไง

ที่ผ่านมาเอ็นจีโอมีแค่สองมือ สองเท้า และหนึ่งหัวคิดเท่านั้น ไม่เคยใช้อาวุธรุนแรง มีแต่ใช้สันติวิธี ที่ผ่านมามีแต่ฝ่ายการเมืองที่ใช้ความรุนแรงกับภาคประชาชน ไม่มีอะไรน่ากลัว มีเพียงอย่างเดียว คือ กลัวว่าเราจะไปขัดผลประโยชน์มากกว่า กลัวว่าจะไปแชร์ที่นั่งในสภา ไปแบ่งปันผลประโยชน์ที่เขาสมควรจะได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่ต่อไปนี้ เขาต้องมาแชร์กับเรา อย่างน้อยก็ 10% ที่เป็นของประชาชน เราคิดว่าเราทำได้ แต่เราก็จะไม่ลดท่าที ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประชาชน เราก็จะไม่ทำ

ระเบียบที่ส่งผลต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนจริงๆ

หากเข้าไปในสภาได้ กฎหมายพรรคการเมือง กับ กฎหมายเลือกตั้ง ต้องแก้ไข กฎหมายสร้างอุปสรรคไม่ให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเรา สามัญชนอย่างพวกเรา มีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากกว่าแค่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

แต่อะไรที่มากไปกว่านี้ เช่น จะตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ก็มีอุปสรรคหลายชั้นมาก เช่น การสมัครสมาชิก 1 คน ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน 2 ชุด ถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน ถ่ายรูปอะไรต่างๆ ทั้งที่น่าจะยื่นบัตรประชาชนแล้วคีย์เข้าระบบออนไลน์ได้เลย

อีกเรื่องคือการต้องหาเงิน 1,000,000 บาท นี่เป็นอุปสรรคใหญ่มาก ไม่รู้จะหาไปเพื่ออะไร ทั้งที่เมื่อนำเงินไปแสดง 1,000,000 บาท เราก็นำ 1,000,000 บาทนั้นกลับมา

ปัญหาคือ จะต้องเป็นคนรวยที่มีเงิน 1,000,000 บาทเท่านั้นใช่ไหม จึงจะสร้างพรรคการเมืองได้ แต่ประชาชนที่มี 100 บาท 1,000 บาท ตั้งพรรคการเมืองได้ไหม นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก

หรือ การเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว อันนี้เป็นปัญหาอุปสรรคมาก ผมคิดว่าความนิยมหรือความชื่นชมของประชาชนทั่วไปต่อพรรคการเมือง ความนิยมในนโยบาย กับ ความนิยมในตัวบุคคลที่เป็น ส.ส.เขต 2 ส่วนนี้ต้องสัมพันธ์ ต้องถ่วงดุลกัน ต้องเชื่อมโยงกั

ประชาชนสามารถเลือกด้วยความนิยมตัวบุคคล คือ เลือก ส.ส.เขต หรือ จะเลือกความนิยมจากนโยบายพรรค ก็เลือกแบบปาร์ตี้ลิสต์หรือบัญชีรายชื่อ เพราะฉะนั้นบัตรมันควรแยกจากกัน

แต่นี่เอาบัตรมารวมกัน กลัวการฟื้นคืนกลับมาของพรรคไทยรักไทย กลัวนายทักษิณมากจนต้องลดทอนความนิยมในตัวพรรค ด้วยการเอาคะแนนเขตมารวมให้เป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อพรรคเล็กมาก

3 รายชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคสามัญชน

เราจะไม่เสนอ ในฐานะความเห็นของหัวหน้าพรรค เราจะไม่เสนอ หากพูดในฐานะส่วนตัว แต่เราจะต้องประชุมกรรมการบริหารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะคุยเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารพรรคบางส่วนก็เปรยออกมาว่าอาจจะไม่เสนอ เพราะพรรคเล็กอย่างเราไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ที่จะต้องเสนอรายชื่อนายกฯ แต่เราอยากใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาเสียง เพื่อทำให้ได้หนึ่งปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง