ทดสอบ “โดรน” ชิงเผาเชื้อเพลิงตัดวงจรไฟป่า

Logo Thai PBS
ทดสอบ “โดรน” ชิงเผาเชื้อเพลิงตัดวงจรไฟป่า
นักวิจัย มช.ทดสอบการชิงเผา โดยใช้โดรนปล่อยลูกไฟชิงเผาใบไม้และเชื้อเพลิงสะสม เพื่อตัดวงจรไฟป่า-หมอกควัน เขตภาคเหนือ นำร่องพื้นที่ชุมชนบ้านแม่เตี๊ยะ และ บ้านแม่ออน จ.เชียงใหม่ คาดใช้งานจริงปี 2563

วันนี้ ( 6 ก.พ.2562) นายมานะ แซ่ด่าน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสาธิตทดลองการชิงเผาโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยโดรน 1 ลำ จะบรรจุลูกบอลขนาด 20 ลูก ซึ่งจะบรรจุเชื้อเพลิง เพื่อนำไปปล่อยลงในพื้นที่ที่มีใบไม้หรือเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังที่มักเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในช่วงฤดูแล้ง


นายมานะ ระบุว่า ก่อนขึ้นบินโดรนจะต้องตรวจพิกัดจุดที่จะปล่อยลูกบอลเพลิงเพื่อจำกัดพื้นที่ ซึ่งจากการคำนวณจะใช้ลูกบอล 1 ลูกต่อพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เวลาบินเพียง 15 นาที ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยลดเวลาและแรงงานชาวบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่คนเข้าไปไม่ถึง เช่น บริเวณใกล้หน้าผาหรือบริเวณลำห้วย โดยปีนี้จะนำร่องทดสอบระบบ 2 พื้นที่ คือ บ้านแม่เตี๊ยะ และบ้านแม่ออน จ.เชียงใหม่

โดรน 1 ลำ มีก้อนเชื้อเพลิง 20 ก้อน ชิงเผา 15 นาที เฉลี่ย 1 ลูกต่อ 1 ไร่ คาดว่า ระบบโดรนชิงเผาจะใช้งานได้เต็มศักยภาพในปี 2563 เนื่องจากต้องปรับปรุงระบบสั่งการของคอมพิวเตอร์ไปยังโดรนที่บินไป-กลับ เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น

หลังจากพัฒนาระบบแล้ว นายมานะ ระบุว่า จะมีการอบรมใช้โดรนชิงเผาให้แก่ชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้งาน ในเบื้องต้นเลือกปฏิบัติการชิงเผาช่วงเดือน ก.พ.ที่มีเชื้อเพลิงสะสมในป่าประมาณร้อยละ 60-70 หากไม่ชิงเผาปล่อยไปถึงเดือน มี.ค. - เม.ย.จะมีเชื้อเพลิงสะสมหนาแน่นมากเกินไป เมื่อชาวบ้านจุดไฟเผาจะเสี่ยงเกิดไฟป่าและหมอกควันลุกลามรุนแรงมาก

ชุมชนร่วมใจชิงเผา ลดไฟป่าเกือบ 100%

ด้าน นายบุญตัน กาละวิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ต.สบเตี้ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บอกว่า ชุมชนดูแลพื้นที่ป่า1,800 ไร่ ก่อนฤดูแล้งจะมาถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน จะร่วมกันทำการชิงเผา 1 วัน ในช่วง เดือน ก.พ.ซึ่งปีนี้กำหนดวันที่ 16 ก.พ.นี้

หากบ้านหลังใดไม่ส่งสมาชิกมาร่วมทำแนวกันไฟ และชิงเผาร่วมกับคนในชุมชน จะต้องเสียค่าปรับ 300 บาท ทั้งนี้ หลังจากชาวบ้านร่วมกันทำแนวกันไฟและมีการจัดการไฟป่าด้วยการชิงเผา เพื่อลดเชื้อเพลิงในป่ามาหลายปี ทำให้ลดไฟป่าและหมอกควันได้เกือบ 100% 

ในเดือน ก.พ.เป็นช่วงที่มีความชื้นสูงกว่าฤดูแล้ง มีลมพัดแรงตลอดเวลา ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี และใบไม้จะร่วงสู่พื้นดินประมาณ ร้อยละ 60 และเหลือใบไม้ติดอยู่กับต้นไม้ร้อยละ 40 ทำให้เมื่อชิงเผา ไฟที่ลุกจะไม่แรงมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากตลอดแนวป่า จะมีการทำแนวกันไฟเป็นช่วงๆ และการชิงเผา จะใช้วิธีเผาเชื้อเพลิง จากข้างบนลงข้างล่างเพื่อไม่ให้ไฟลุกโหมแรงมาก ต้นไม้สามารถฟื้นตัวหลังการชิงเผาแล้วเสร็จ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ถึงเดือน มี.ค. หรือ เดือน เม.ย. ใบไม้จะร่วงลงพื้นดินทั้งหมด 100% เมื่อเกิดไฟป่าจะทำให้ไฟลุกไหม้เร็วและแรง เพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้ป่าไม้ ต้นไม้ยืนต้นตายจำนวนมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง