"รศ.พิชาย" วิเคราะห์อนาคตพรรคไทยรักษาชาติ

การเมือง
11 ก.พ. 62
14:00
1,266
Logo Thai PBS
"รศ.พิชาย" วิเคราะห์อนาคตพรรคไทยรักษาชาติ
พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกจับตาความเคลื่อนไหว หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ได้แสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบต่อพรรคไทยรักษาชาติและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

วันนี้ (11 ก.พ.2562) รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติและมีการเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบ ว่า หากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ต้องให้ กกต.พิจารณาเจตนาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ ทษช.ก็ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการลาออกจากกรรมการบริหาร หรือตามแต่จะพิจารณา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคม

การดำเนินการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม ทำให้คนเกิดความรู้สึกแบ่งขั้ว เลือกข้างและสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

ส่วนจะมีการจะยุบพรรคหรือไม่นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบและข้อเท็จจริงมาประกอบกันในแง่ของ กกต.ว่าจะตีความลักษณะของ ทษช.เข้าข่ายเป็นปรปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่จากหลักฐานที่มีอยู่ หากตีความเแล้วเข้าข่ายก็อาจมีการเสนอให้ยุบพรรค แต่ถ้าไม่เข้าข่ายและไม่ถูกยุบพรรค ก็อาจจะต้องพิจารณาโทษอื่นตามกฎหมาย ซึ่ง กกต.ต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะการพิจารณาว่าจะยุบพรรคหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ขณะที่ในแง่ทางการเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พรรคไทยรักษาชาติและพรรคเครือข่าย เสียโอกาสหาคะแนนนิยมเพิ่มเติม ซึ่งคนที่จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตระกูลเพื่อ อาจเหลือแต่คนที่มีความเหนียวแน่น ยึดมั่นและติดอยู่กับพรรคจริงๆ ขณะที่คนบางกลุ่มอาจจะถอยออกมาจากพรรคตระกูลเพื่อและหันไปหาพรรคอื่น จึงคิดว่าคะแนนที่ได้จะไม่เกินคะแนนเดิม หรืออาจถดถอยกว่าเดิม ขณะเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลเชิงบวกให้กับพรรคคู่แข่งด้วย

แต่หากมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติจริง อาจทำให้นักการเมืองที่สังกัดพรรคนี้ต้องยุติบทบาททางการเมืองไปอีกระยะหนึ่ง ก็ถือว่าเหมาะสมกับสิ่งที่ได้ดำเนินการไป ส่วนกรณีที่มีการมองว่าอาจโยงไปถึงการยุบพรรคเพื่อไทยด้วยนั้น ซึ่งหากไปถึงระดับนั้นจะสร้างความโกลาหลทางการเมือง แต่จากหลักฐานที่ปรากฎออกมาก็ยังไม่สามารรถทำให้เชื่อมโยงไปถึงกันได้

 

ด้านพรรคพลังประชารัฐที่มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.นั้น

รศ.พิชาย มองว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะลงสมัครในนามพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ก็ควรลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.ก่อน เพราะหัวหน้า คสช.มีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี สามารถออกกฎหมายภายใต้มาตรา 44 ได้

การมีอำนาจแบบนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันและตัวเองมีชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง ดูไม่เหมาะสมและมีความเสี่ยงที่จะใช้อำนาจหน้าที่ให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ คสช.มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจเข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จึงไม่เหมาะที่จะเป็นหัวหน้า คสช.และควรลาออก ขณะเดียวกันหัวหน้า คสช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการลาออกไม่ได้มีผลกระทบกับการบริหารบ้านเมืองที่จะต้องจัดพระราชพิธีสำคัญ จึงควรให้คนอื่นดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.แทน หากเป็นแบบนี้จะทำให้ คสช.มีความเป็นกลางและเป็นอิสระทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ดีขึ้น

นอกจากนี้ รศ.พิชาย ยังแนะนำประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองว่า ไม่ควรนำความคิดของขั้วการเมืองมาตัดสินใจในการเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่อยากให้พิจารณานโยบายของแต่ละพรรคว่ามีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มที่สัดกัด หรือของประเทศหรือไม่ รวมถึงใช้เหตุผลในการเลือกพรรคที่คิดว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายหรือกฎหมายที่ตัวเราต้องการให้เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง