เปิดที่มา “ไทยรักษาชาติ” ก่อนถูก (ยื่น) ยุบพรรค

การเมือง
13 ก.พ. 62
15:31
1,361
Logo Thai PBS
เปิดที่มา “ไทยรักษาชาติ” ก่อนถูก (ยื่น) ยุบพรรค
ขณะนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่พรรคไทยรักษาชาติว่า จะมีปฏิกิริยาและกิจกรรมทางการเมืองอย่างไรต่อไป ให้ถูก กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค

พรรคไทยรักษาชาติที่ถูกจับตามาตั้งแต่เปิดตัวในฐานะที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพรรคเครือข่ายพรรคเพื่อไทย และเป็นที่จับตาอย่างที่สุดกับการเสนอชื่อเป็นที่จะเป็นนายกฯรัฐมนตรี แต่กรณีดังกล่าวก็จนเป็นเหตุให้นำไปสูการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ในสภาวะที่ทุกพรรคการเมืองเดินหน้าหาเสียงเลือกตั้งกันเต็มที่

 

จากพรรค "รัฐไทย" สู่ “ไทยรักษาชาติ”


พรรคไทยรักษาชาติ ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน แต่เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เดิมชื่อ “พรรครัฐไทย” มีนายเอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคและนายศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก


1 ปีต่อมา (ปี 2553) ที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครัฐไทย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรค จากพรรครัฐไทย เป็น “พรรคไทยรวมพลัง” พร้อมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและภาพเครื่องหมายพรรค ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2554 เคยส่งผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว แต่ไม่ได้ที่นั่งในสภา แม้แต่ที่นั่งเดียว


ต่อมาปี 2557 นายเอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ หัวหน้าพรรค ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 รประชุมใหญ่ของพรรคไทยรวมพลัง มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรค เป็น “พรรคไทยรักษาชาติ” พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค อุดมการณ์ของพรรค และนโยบายของพรรค

7 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุมใหญ่พรรคไทยรักษาชาติได้เลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ที่ประชุมมีมติเลือก “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” เป็นหัวหน้าพรรคและนายมิตติ ติยะไพรัช เป็นเลขาธิการพรรค

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย เพราะมีอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ย้ายมาสังกัดและเข้ามาบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นอกจากนี้ยังมีการตีความชื่อย่อตัวอักษร “ทษช.” ของทางพรรคในช่วงแรกๆ ว่ามีนัยหมายถึง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ลูกชาย “ระเบียบรัตน์” ขึ้น "หัวหน้าพรรค"


ขณะที่ ชื่อของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ อายุ 38 ปี เป็นบุตรชายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กับ นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช (อดีต ส.ว.ขอนแก่น) ก็ได้รับการเสนอเป็นหัวหน้าพรรค

ร.ท.ปรีชาพล สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

จากนั้นเข้ารับราชการทหารติดยศร้อยตรี ประจำสำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหมและได้ย้ายมาช่วยราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งที่บิดาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาในปี 2550 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น เขต 2 สังกัดพรรคพลังประชาชน โดยการสนับสนุนของนายเสริมศักดิ์ และนางระเบียบรัตน์ จนได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วยอายุเพียง 27 ปี


จากนั้นในปี 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ ส.ส.จำนวน 6 คน พ้นสมาชิกภาพ กรณีถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัมปทานของรัฐ ซึ่ง ร.ท.ปรีชาพลเป็น 1 ใน ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่ก็สามารถกลับเข้ามาเป็น ส.ส.ได้อีกครั้ง ในการเลือกตั้งซ่อม


ในการเลือกตั้งปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่ในการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติ จะมีมติเลือก ร.ท.ปรีชาพล เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561

เปิดโครงสร้างผู้บริหารพรรค


ขณะที่ โครงสร้างของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกตั้งคำถามว่า “เป็นพรรคสาขา” ของพรรคเพื่อไทย เพราะเมื่อพิจารณาบรรดารายชื่อทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทยแทบทั้งสิ้น

ไล่ตั้งแต่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ขณะที่ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ก็มี น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร เป็นอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย , นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล แกนนำกลุ่มพลเมืองก้าวหน้าราชบุรี นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ ผู้แทนการค้าไทยและอดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน และนายฤภพ ชินวัตรบุตรชายนายพายัพ ชินวัตร

ขณะที่ ตำแหน่ง เลขาธิการพรรค ก็ได้นายมิตติ ติยะไพรัช ลูกชายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา โดยนายมิตติได้ลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ที่ดูแลมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเข้าสู่สนามการเมืองในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะที่ รองเลขาธิการพรรคที่ได้ นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ เป็นเพื่อนสนิทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ตั้งแต่สมัยศึกษระดับปริญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระดับปริญยาโทที่ต่างประเทศ และนายคณาพจน์ได้เคยช่วยงานในพรรคเพื่อไทยมาก่อน และได้รับการชักชวนให้มารับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ


นายต้น ณ ระนอง ลูกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายวิม รุ่งวัฒนจินดาอดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กรรมการบริหารพรรค นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรค แล้ว โดยให้เหตุผลว่าต้องการกลับไปดูแลบุตร และนายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

นายทะเบียนสมาชิกพรรค น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรสาวของ นางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาว นายทักษิณ ชินวัตร


โฆษกพรรค นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 7

เหรัญญิกพรรค นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยานายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ


ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 14 คน (นายรุ่งเรือง พิทยศิริ ได้ลาออกในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว) ได้เตรียมลาออก หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติแล้ว

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค ได้ออกแถลงข่าวว่า ส.ส.ของพรรคจะยังคงเดินหน้าหาเสียงต่อไป ขณะที่แกนนำจะงดการปราศรัยและหาเสียง รวมถึงงดให้ความเห็นเกี่ยวกับการต่อสู้คดียุบพรรคโดยจะสู้คดีภายในศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

จากนี้ไปต้องจับตาดูผลของคำวินิจฉัยหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 27 ก.พ.นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง