ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง

การเมือง
14 ก.พ. 62
19:13
9,887
Logo Thai PBS
ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ จึงทำให้คอการเมืองต้องมองย้อนไปว่า ในอดีตมีพรรคการเมืองที่เคยถูกยุบมาแล้วทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย จนทำให้นักการเมืองชื่อดังหลายคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง

หากไล่เรียงประวัติศาสตร์ทางการเมือง เปรียบกับกรณีล่าสุด หลังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92

พรรคไทยรักษาชาติไม่ใช่พรรคแรกที่ กกต.มีมติส่งคำร้องขอยุบพรรคการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องวินิจฉัย หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ยุบ "ไทยรักไทย" กำเนิดบ้านเลขที่ 111 

ครั้งนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยลงสมัคร ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549


กกต.เห็นว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยกระทำความผิด จึงส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดี


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 หรือที่เรียกว่า "บ้านเลขที่ 111" โดยมีนักการเมืองชื่อดังในขณะนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเป็นจำนวนมาก


เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ได้กำหนดไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย โดนใบแดง

ต่อมาในปี 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินี หรือตัวแทนพรรคไทยรักไทย โดยในขณะนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่ง กกต.สรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่า พรรคพลังประชาชน เข้าข่ายเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย แต่ไม่มีกฎหมายเอาผิด

ต่อมา กกต.ได้มีมติให้ใบแดงพรรคพลังประชาชนและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หลังพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย โดยในวันที่ 8 ก.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ 5 ปี พร้อมส่งอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และในวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี


เช่นเดียวกับ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูก กกต.มีมติเสียงข้างมากส่งคำร้องไปยังอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคด้วย เพราะมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยเพิกถอนสิทธิทางการเมือง พรรคชาติไทย จำนวน 43 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย จำนวน 29 คน และรวมกับพรรคพลังประชาชนจำนวน 37 คน รวมทั้งหมดถูกเรียกว่า "บ้านเลขที่ 109" 

ทำให้ต่อมาได้มีการตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา ขึ้นมาเพื่อรองรับ ส.ส.จากพรรคชาติไทยและจากพรรคมัชฉิมาธิปไตย เข้าสู่พรรคหลังจากถูกยุบพรรค

การยุบพรรคการเมืองนั้นไม่ได้มีมาเพียง 10 ปีย้อนหลัง หรือมีแค่ 4 พรรคเท่านั้น นับแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ต่อเนื่องถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 จนถึงรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบหรือถูกประกาศให้สิ้นสภาพไปแล้วหลายร้อยพรรค

พรรคการเมืองที่ถูกยุบเนื่องจากคำสั่งผู้เข้ายึดอำนาจ

พรรคการเมืองที่ถูกยุบเนื่องจากคำสั่งผู้เข้ายึดอำนาจเพื่อการปกครองประเทศ เช่น พรรคการเมืองซึ่งถูกยุบเลิกไปตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ในปี 2494

ภายหลังได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498 และให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้พรรคการเมืองจำนวนมากถูกยุบไป เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคกรรมกร พรรคเศรษฐกร พรรคชาวนา และพรรคสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น

ต่อมาหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้นำคณะปฏิวัติเข้ายึดอำนาจพร้อมประกาศยกเลิกกฑหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งผลให้พรรคการเมือง เช่น พรรคสหประชาไท พรรคประชาธิปัตย์ พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคประชาชน พรรคแนวร่วม-เศรษฐการ พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคแรงงาน พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคประชาพัฒนา พรรคชาวนา ชาวไร่ เป็นต้น ต้องถูกยุบพรรคโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2517 และประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2518 เรื่อง การเพิกถอนการจดทะเบียนพรรคการเมือง ที่เปลี่ยนแปลงให้การยุบพรรคการเมืองเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่โดยคำสั่งของผู้เข้ายึดอำนาจทางการเมือง

กระทั่ง พ.ศ.2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 รวมทั้งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2517 เป็นเหตุให้พรรคการเมืองจำนวนมากที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวสิ้นสุดลง เช่น พรรคสันติชน พรรคธรรมาธิปไตย พรรคไทสังคม พรรคพิทักษไทย พรรคแนวร่วมประชาธิปไตย พรรคกรุงสยาม เป็นต้น

พรรคการเมืองที่ถูกยุบจากคำสั่งของศาลฎีกา

กรณีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้กำหนดให้ศาลฎีกาเป็นองค์กรผู้มีอำนาจ ในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง ปรากฏขึ้นครั้งแรกในมาตรา 31 แห่งประราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 ซึ่งนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจในการสั่งยุบพรรคการเมือง มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้งสิ้น 36 พรรค แบ่งได้เป็น 4 กรณี ได้แก่

  • พรรคการเมืองไม่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือส่งไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ศาลฎีกาสั่งยุบพรรค เช่น พรรคประชาเสรี พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาธิปไตย พรรคเกษตรกร พรรคแรงงาน ประชาธิปไตย พรรคนำไทย และพรรคอนุรักษ์นิยม เป็นต้น
  • พรรคการเมืองต้องยุบไปเนื่องจากข้อบังคับของพรรคเอง เช่น พรรคกิจประชาสังคม พรรคก้าวหน้า และพรรคประชาชน เป็นต้น
  • พรรคการเมืองไม่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไป เช่น กรณีพรรครวมพลังใหม่ พรรคสหประชาธิปไตย พรรคเกษตรเสรี และพรรคท้องถิ่นก้าวหน้า เป็นต้น
  • พรรคการเมืองรวมกับพรรคการเมืองอื่น เช่น เมื่อปี 2537 พรรคกิจสังคมยุบพรรคหลังแจ้งเข้าร่วมพรรคมวลชน เป็นต้น 

พรรคการเมืองที่ถูกยุบหลังจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ

การเกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการบัญญัติองค์กรผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดี มูลเหตุและเงื่อนไขของการยุบพรรคการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ต่อมาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้จำแนกมูลเหตุในการยุบพรรคการเมืองไว้ 2 ประเภท คือ 

1.เหตุเนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และเหตุจากการยุบรวมพรรคการเมืองหรือยุบเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง 

2.เหตุอันเนื่องจากพรรคการเมืองมีการกระทำอันเข้าข่ายล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิไตย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 

อย่างไรก็ตาม หลังการกำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคดียุบพรรคการเมืองแทนศาลฎีกาตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ.2541 มีคำสั่งยุบพรรคแล้ว 92 พรรค จาก 7 สาเหตุ ได้แก่

1.ไม่สามารถหาสมาชิกได้ 5,000 คน และจัดตั้งสาขาพรรคภายใน 180 วัน มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 41 พรรค

2.ใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่ถูกต้อง หรือไม่รายงานการใช้เงินสนับสนุนให้ถูกต้องตามความจริงภายในกำหนดตามมาตรา 62 มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 11 พรรค

3.ไม่รายงานการดำเนินกิจการในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตร 35 มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน  12 พรรค

4.พรรคการเมืองยุบพรรคไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น ตามมาตรา 65 (3) ประกอบกับมาตรา 73 มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 5 พรรค

5.ยุบพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคการเมือง มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 7 พรรค

6.มิได้มีการประชุมใหญ่ในการดำเนินกิจการตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ตามมาตรา 25 หรือ องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 11 พรรค

7.มีสมาชิกพรรคการเมืองเหลือไม่ถึง 15 คน มีพรรคการเมืองถูกยุบ จำนวน 1 พรรค 

จากนี้ไปจึงต้องจับดูในวันที่ 27 ก.พ.2562 ศาลรัฐธรรมนูญว่าจมีคำวินิจฉัยว่าอนาคตของพรรคไทยรักษาชาติจะดำเนินต่อไปเช่นไร...  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

ปัญหาทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย 

แนวทางปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง

การยุบพรรคการเมือง โดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การยุบพรรคการเมือง : ศึกษากรณีคำวินัจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง