เลือกตั้ง 62: ฟังเสียงพลเมือง ! เยาวชน หนุนแก้กฎหมายอายุ 18 ปีลงสมัครส.ส.

การเมือง
14 ก.พ. 62
18:23
1,934
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 62: ฟังเสียงพลเมือง ! เยาวชน หนุนแก้กฎหมายอายุ 18 ปีลงสมัครส.ส.
สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับไทยพีบีเอส ดึงตัวแทนนักวิชาการ เยาวชนและภาคประชาชนสะท้อนเสียงเพื่อความเป็นพลเมือง โดยตัวแทนเยาวชนระบุอยากให้แก้กฎหมายให้เยาวชนตั้งแต่อายุ 18 เข้าสู่สนามการเมืองได้ ช่วยกำหนดอนาคตประเทศ

วันนี้ (14 ก.พ.2562) ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีส่งเสียงประชาชน ให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง ในหัวข้อ "เสียงเพื่อความเป็นพลเมือง" เพื่อร่วมเปล่งเสียงบอกรัฐบาลที่จะได้มาหลังการเลือกตั้งควรส่งเสริมสิทธิ และการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างไร 

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย  เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า  เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะเริ่มต้นนำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระบอบประชาธิปไตย จะเริ่มในวันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยสถาบันพระปกเกล้าได้จัดโครงการจับตาการเลือกตั้ง มีจุดมุ่งหมายที่จะทำบทบาทในสถาบันทางวิชาการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยวางหลัก 3 เรื่อง คือสำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ซึ่งทำไปแล้ว 2 ครั้งสะท้อนว่าประชาชนมีการรับรู้อย่างไร

ผลที่ได้รับคือประชาชนไม่เข้าใจระบบการเลือกตั้งใหม่ และเข้าใจว่ายังเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ

และเมื่อนำให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไปเป็นโจทย์รณรงค์ทำความเข้าใจ ครั้งที่ 2  ประชาชนรู้ว่าบัตร 1 ใบมีความหมายอย่างไร การตัดสินใจของประชาชนเข้าใจมากขึ้น จากเดิมมองแค่นโยบาย และกลับมามองตัวบุคคลผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งเตรียมจะสรุปผลในสัปดาห์หน้า โดยการดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้า ต้องการสะท้อนในปรากฎการณ์ และสถานะทางสังคมที่ประชาชนรับรู้สถานะการเลือกตั้ง และเราอยากให้ประชาชน

ขณะที่สอดคล้องกับผลการสำรวจของ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ระบุ ประเทศไทยต้องการพลเมืองที่มีส่วนร่วม สร้างพลังเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจากการทำโพลสำรวจ มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ผลการศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมือง พบว่า คนไทยสนใจการเมืองมากขึ้น โดย 6% สนใจมาก ส่วนอีก 36% ไม่สนใจ

ผลการสำรวจที่ให้เลือกผู้นำที่ซื่อสัตย์ กับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเปรียบเทียบพบว่า 92% ขอให้ผู้นำที่ซื่อสัตย์ และ 85 มาจากการเลือกตั้ง แสดงว่าคนไทยมองคนที่ซื่อสัตย์มากกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง

และถ้าพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันจะทำอย่างไร ผลสำรวจพบว่า 45% จะเขียนจดหมายแจ้ง-ร้องเรียน ขณะที่ 40% จะไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆ

 

เสนอแก้กฎหมายเด็ก 18 ลงสนามการเมือง

นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ เยาวชนจากสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า พื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนยังไม่มีพื้นที่มากพอ ในการส่งเสียงเพื่อความเป็นพลเมือง ทำให้เด็กไม่ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพ ข้อเสนอ คือขอให้ปรับปรุงและแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความตระหนักรู้ด้านการมีสิทธิมีเสียง เพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น เช่น การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาว ชนเข้าสู่การเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายผ่านการลงเลือกตั้ง ส.ส. และสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เรียกร้องการมีส่วนร่วมของเด็ก โดยเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิใช้เสียงและสามารถลงรับสมัคร ส.ส.ได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า  เนื่องจากตอนนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 25 ปี ถึงจะลงสมัคร ส.ส.ได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย สามารถแก้ไขหรือกำหนดอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น

น.ส.จิระวรรณ สิทธิศักดิ์ ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกสร้างความเป็นพลเมืองสิทธิหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยเป็น สิ่งสำคัญ เสนอว่าอยากให้ทุกจังหวัดมีโรงเรียนพลเมือง ทำหน้าที่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ ดังนั้นรัฐบาลอยากให้คนไทยมีความเป็นพลเมืองที่ดี ควรตั้งโรงเรียนพลเมืองให้ครบจังหวัด และมีข้อกำหนดที่นักการเมืองที่จะสมัครจะต้องผ่านการเรียนรู้จากโรงเรียนพลเมืองแห่งน

ส่วนผศ.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทย ระบุเป้าหมายทางการศึกษาไม่เน้นสร้างพลเมืองและไม่ได้ส่งเสริมเรื่องความเป็นพลเมือง 

รัฐต้องการส่งเสริมพลเมืองที่เชื่อฟัง ไม่ได้ส่งเสริมพลเมืองที่ตั้งคำถาม ไม่สอนเรื่องสิทธิ แต่สอนเรื่องหน้าที่ จึงต้องปรับนโยบายการศึกษาให้เอื้อกับการเรียนรู้ 

 

หนุนรัฐบาลปลดล็อกความเหลือมล้ำฐานทรัพยากร 

นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่มีใครจะตระหนักในหน้าที่ได้ดี ถ้าไม่เข้าสิทธิของเขาเอง ถ้ามาตรวจสอบสถานการณ์พบว่าทิศทางการพัฒนาของรัฐ ถือว่าเอาทุนเป็นหลัก ละเลยสิทธิประชาชน โดยนโยบายของรัฐทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่เคยหายไป มีโครงการที่ประชาชนได้รับผลกระทบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนหายไป ซึ่งไม่ใช่เกิดในช่วงรัฐบาลคสช.เท่านั้น แต่สะสมมาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ทางออกคือ ขอให้สนช.ยุติการพิจารณาร่างกำหมายที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รอสภาที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า เร่งแก้ปัญหาคนอยู่ในป่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยุติโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบเพื่อจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นหลักประกันถ้วนหน้า 

 

 

นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผอ.สถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหา เราต้องให้การศึกษาทางการเมืองเข้าไปอยูในระบบการศึกษา ต้องทำให้คนรู้ทันการเมือง แยกประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์สาธารณะได้ จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ การจะพัฒนาประชาธิปไตยต้องพัฒนาคนควบคู่

ขณะที่การแสดงความเห็นในเวทีนี้ ตัวแทนเยาวชน ยังสะท้อนว่าปัญหาประชาธิปไตยในโรงเรียน เช่น มีการเลือกตั้งประธานนักเรียน แต่เป็นแค่ผู้สนองคำสั่งผอ.โรเรียนเท่านั้น  แต่ไม่สนองประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงอยากให้ขยายวิชาหน้าที่พลเมืองให้เด็ก และเยาวชน พร้อมที่จะขับเคลื่อนตั้งแต่เด็กๆอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง