วิเคราะห์ : เอกภาพ "กองทัพ-รัฐบาล" ยังเหนียวแน่น

การเมือง
17 ก.พ. 62
14:42
1,597
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : เอกภาพ "กองทัพ-รัฐบาล" ยังเหนียวแน่น
วิเคราะห์โจทย์คำพูด "อย่าล้ำเส้น" ของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สยบการโจมตีรัฐบาล-คสช.ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ที่หวังเขย่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และกองทัพ การันตียังเหนียวแน่น

“อย่าล้ำเส้น" กลายเป็นประโยคทอง ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะเลขาธิการ คสช.ไปแล้ว เพราะทุกๆ ครั้งที่ถามถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง หรือสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย ก็มักจะได้คำตอบนี้กลับมา

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ตอนนี้หลายฝ่ายก็ลงความเห็นว่า มีเส้นกั้นถึงความอ่อนไหวที่จะเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวลือถึงเหตุรัฐประหารซ้อน ออกมาเขย่าความสัมพันธ์ ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลทหาร แต่อะไรจะการันตีได้ว่าแค่ข่าวปล่อย 

แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชี้ว่า รัฐประหารซ้อนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตเคยเกิดรัฐประหารซ้อนมาแล้ว และก็เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลทหารด้วย และก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวก็เคยเกิดขึ้นเช่นกัน แต่ปัจจัยและเหตุผลสำคัญของการเกิดรัฐประหารซ้อน คือเงื่อนไขของสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด

การเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างวางหมากกลยุทธ์ เพราะหากใครเดินเกม และมีแต้มต่อทางการเมือง ก็อาจคว้าคะแนนนิยมไปครอง และการโจมตีรัฐบาล-คสช. ซึ่งเป็นไปได้ว่าคือหนี่งในเป้าหมายตัวเลือกของฝ่ายตรงข้าม ที่หวังเขย่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพ โดยเฉพาะคำว่า "รัฐประหารซ้อน"

ถ้าหากตีโจทย์คำพูด "อย่าล้ำเส้น" ของ พล.อ.อภิรัชต์ อาจจะเป็นอีกหนึ่งการส่งสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ที่อาศัยห้วงเวลาของสถานการณ์บ้านเมือง ที่เรียกว่ากำลังเปราะบาง-อ่อนไหว..ปล่อยข่าวรัฐประหารซ้อน ออกเอกสารปลอมหวังให้เกิดปมร้าว ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ และนำมาซึ่งการล้มเลือก

ไม่เชื่อรัฐประหารซ้อน

แต่สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารกับกองทัพที่สภาพความเป็นหนึ่งเดียวตอนนี้ ทำให้พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์รัฐประหารซ้อนจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ได้

และมากกว่านั้นคือรัฐประหาร ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ และสังคมโลกก็ไม่ยอมรับ แต่รัฐประ หารที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เกิดขึ้นจากปัจจัยและสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง และถ้าเทียบกับสถาน การณ์ตอนนี้ อาจบอกได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมแต่ถ้าหากเกิดรัฐประหารขึ้น อาจมองได้ 3 ทฤษฎี ดังนี้ รัฐประหารซ้อน รัฐประหารซ้ำ และรัฐประหาร

รัฐประหารซ้อน หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลที่มีอยู่ นั่นคือพล.อ.ประยุทธ์ และ 2 รัฐประหารซ้ำ คือรัฐประหารที่ต้องการล้างไพ่ใหม่ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาในนั่งตำแหน่งเดิม และทฤษฎีที่ 3 คือรัฐประหาร ที่จะนำไปสู่แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ


ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายกุมอำนาจ คือรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ที่เป็นฝ่ายกุมกำลังในกองทัพ จึงต้องควงคู่-ร่วมตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ประจำปี 2562 ที่จัดขึ้นในค่ายทหาร กองพลรบพิเศษที่ 1 จังหวัดลพบุรี



และน่าจะสรุปภาพรวมได้ว่า ตลอดทั้งงาน แม้พล.อ.อภิรัชต์ จะรักษาระยะห่างในการทำหน้าที่ หลังประ กาศจุดยืนกองทัพต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ด้วยบทบาทและหน้าที่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเดินเคียงข้างกันไป จนจบภารกิจได้

แม้ภาพการควงคู่ระหว่างบิ๊กตู่ กับบิ๊กแดง จะเกิดขึ้นท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย อาจจะยืนยันได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และกองทัพ เพราะการเมืองในห้วงเวลานี้ อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ หากแต่เป้าหมายที่เห็นชัด ที่สุดตอนนี้ คือเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! ใครคว้าพุงปลาจากพรรคไทยรักษาชาติ

ผบ.ทบ.ยัน "รัฐประหาร" แค่ข่าวลือ จุดยืนกองทัพเป็นกลาง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง