ใกล้เลือกตั้ง คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองเพิ่ม

การเมือง
18 ก.พ. 62
20:14
525
Logo Thai PBS
ใกล้เลือกตั้ง คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองเพิ่ม
หากแบ่งฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามวัยจะพบว่า ผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งมีคนที่รัก มีพรรคที่ใช่ อยู่ในใจ แต่ที่แต่ละพรรคต้องแย่งชิงความนิยมมาให้ได้ ก็คือ คนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ถูกจับตามองว่า อาจจะไม่สนใจการเมืองแต่ถ้าไปดูในเวทีตอบคำถามทางวิชาการ ซึ่งจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร กลับสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขานำพาประเทศออกจากวังวนการเมืองและความหมายของคำว่า "เสรีภาพ"

วังวนการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล เกิดวิกฤตการณ์ มีการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง หรือ "วงจรอุบาทว์ทางการเมือง" เป็นหนึ่งในเนื้อหาทางวิชาการ ที่ ผศ.นสิภา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก บรรยายแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 52 โรงเรียน ในพื้นที่ภาคเหนือที่เข้าร่วมแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการ ครั้งที่ 16

การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการครั้งนี้ มีผู้ร่วมแข่งขันคึกคักกว่าทุกปี ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เป็นผลมาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น

น.ส.เมวียา วิชาดี ประธานชมรมรัฐศาสตร์ นักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า การแข่งขันตอบปัญหาทางรัฐศาสตร์ครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมากเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ซึ่งคาดว่าเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ใกล้ในวันที่ 24 มี.ค.นี้จะมาถึงจึงทำให้มีผู้สนใจแข่งขันมากขึ้น

ด้านนายพงศ์ปณต พรหมสุวรรณ์ นักเรียนโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนรู้สึกอยากเลือกตั้งโดยติดตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆผ่านทางโซเชียลมีเดียและได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ซึ่งก็รู้สึกดีว่าจะเป็นการให้การเมืองไทยเดินไปข้างหน้า

นอกจากนี้ นักเรียนบางส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า อยากให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการโกงกินบ้านเมือง หรือ คอร์รัปชัน ขณะนี้กลุ่มวัยรุ่นมีความตื่นตัวทางการเมือง อนาคตคาดหวังว่า ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบบังคับมากเกินไป


ด้าน ผศ.นสิภา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า "อยากให้คนรุ่นใหม่อดทน ยึดถือแนวทางทางประชาธิปไตย และให้เลือกวิถีทางประชาธิปไตยในการจัดการกับวิกฤตหรือปัญหาแทนที่การใช้วิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย "

สำหรับการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการร่วมกัน รวมถึงการปลูกจิตสำนึกและความเข้าใจในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ ความรู้ทางวิชาการด้านการเมืองการปกครองไทย แก่นักเรียน นิสิต และบุคคลทั่วไปด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง