หลากปฏิกิริยาต่อเพลง "หนักแผ่นดิน"

การเมือง
19 ก.พ. 62
19:25
1,684
Logo Thai PBS
หลากปฏิกิริยาต่อเพลง "หนักแผ่นดิน"
เพลงหนักแผ่นดินที่แต่งขึ้นเมื่อปี 2518 กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย หลังจากผู้บัญชาการทหารบกใช้เพลงนี้ตอบโต้นักการเมืองที่ต้องการลดงบประมาณของกองทัพ ขณะที่วันนี้มีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้เพลงนี้โจมตีทางการเมือง

กลายเป็นกระแสตอบโต้กันไปมา หลังเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.2562) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้พรรคการเมืองที่ชูนโยบายหาเสียงปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ผู้บัญชาการทหารบกจะไม่ลงมาขัดแย้งกับพรรคการเมือง ขณะเดียวกันขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้ประเทศเกิดความสงบสุขและเดินหน้าเลือกตั้ง พร้อมขอให้พรรคการเมืองช่วยหาเสียงเลือกตั้งในทางที่ดี ไม่กล่าวโจมตีกัน ระบุเรื่องแบบนี้ไม่มีใครทำกัน ไม่มีใครประจานประเทศตัวเอง

ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยอมรับว่า เคยฟังและชื่นชอบเพลงหนักแผ่นดินมาก เพราะเป็นเพลงที่เตือนสติ ปลุกให้คนรักชาติรักแผ่นดิน เมื่อทำสิ่งใดต้องคิดว่าจะมีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือไม่ หากคิด พูด และประพฤติ ในสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย คน ๆ นั้นก็จะเป็นคนหนักแผ่นดิน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะปฏิเสธแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพลงหนักแผ่นดิน แต่มองว่านโยบายความมั่นคงและกองทัพไม่ควรเป็นชนวนความขัดแย้ง เพราะพรรคการเมืองมีสิทธินำเสนอนโยบาย หากมีความเห็นที่ไม่ตรงกันพูดถึงเนื้อหาสาระ ทุกคนมีความคิด มีจุดยืนของตัวเองได้ แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำให้เกิดความขัดแย้ง

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ วิจารณ์ผู้บัญชาการทหารบก ว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่แสดงออกไม่เป็นกลางทางการเมือง และให้ร้ายพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ผิดระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความเข้าใจในกติกาประชาธิปไตย พร้อมแนะนำให้ผู้บัญชาการทหารบกประพฤติตัวใหม่ เป็นทหารควรปกป้องประเทศ ไม่ใช่เปิดเพลงหนักแผ่นดินเพื่อให้คนไทยขัดแย้งกัน

สอดคล้องกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ที่ต้องการให้ผู้บัญชาการทหารบก รักษาความเป็นกลาง ความน่าเชื่อถือ เพราะการแสดงออกทางการเมืองเป็นการส่งสัญญาณความขัดแย้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง