เลือกตั้ง 2562 : ชนนโยบายเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง

การเมือง
26 ก.พ. 62
20:21
764
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : ชนนโยบายเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง
ไทยพีบีเอส จัดดีเบต 10 วัน 1000 นาที วันนี้ (26 ก.พ.) เปิดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายด้านเศรษฐกิจ จากตัวแทน 5 พรรคการเมือง โดยหวังว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นหลังเลือกตั้ง ลดความเหลื่อมล้ำที่ดินทำกิน

วันนี้ (26 ก.พ.2562) ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์ นโยบายของพรรคการเมือง และฟังเสียงประชาชน ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 โดยวันนี้มีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองร่วมพูดคุยถึงนโยบายเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ วงจรหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การถือครองที่ดิน ปัญหาแรงงาน และนโยบายสินค้าพืชผลทางการเกษตร

ทำไมต้องเลือกพรรคของคุณ เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ระบุว่า เศรษฐกิจภาพใหญ่เงินไปกระจุกกับคนกลุ่มหนึ่ง การตั้งชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพราะต้องการปฏิบัติการด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่ หาเงินเข้าประเทศทุกทิศทาง เปลี่ยนระบบการเงิน ท่องเที่ยว ถ้าหาเงินได้ แล้วคำถามคือหามาเยอะต้องทำอย่างไรให้คนไทยมีความสุข คำตอบคือเศรษฐกิจมหาภาค ทำให้คนมีความสุข ซึ่งรูปแบบนโยบายขึ้นแต่ละพรรค

เงินไปกระจุกใน 10 ธุรกิจที่มีการเติบโต 1.22 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจระดับรากหญ้าหายไป

นายเอกพร รักความสุข หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย ระบุสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้ เป็นปัญหาระหว่างคนที่เศรษฐกิจแข็งแรงกับคนที่เศรษฐกิจอ่อนแอ เป็นระบบที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำให้เศรษฐกิจเป็นธรรม ทำได้ง่ายโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ต้องเน้นกลไกการเกษตรใหม่ พร้อมเสนอแนวคิดกระทรวงอาหาร

กระทรวงอาหาร จะพลิกประเทศอย่างไร เพราะไทยมีแหล่งวัตถุดิบ และมีแหล่งอาหารที่ดี สินค้าเกษตร ถ้ามีหน่วยกลางจะช่วยประสานทั้งระบบในด้านนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีอธิบดี หรือปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุเรามีความสามารถในการบริหารจัดการ ในยุคปลายปี 2554 มีปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่อง กระทบกับเมืองขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรม ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้มีกำลังซื้อเข้ามา

ส่วนนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุจะสานต่อบัตรประชารัฐ บ้านล้านหลัง ไม้มีค่าตัดได้ หาบเร่แผงลอย ประมงชายฝั่ง ขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มสินค้า ที่ดินทำกิน สปก. มารดาประชารัฐ สร้างเมืองรองกระจายความเจริญ

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียนโยบายรับจำนำข้าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย การที่ชาวนาปลูกข้าวแต่ขายไม่ได้ราคาเหมาะสม เป็นโจทย์ในอดีต กระบวนการที่เราจะดูแลให้ชาวนามีรายได้ดี เป็นภารกิจหลังของพรรค ยังเสนอแนวคิดสินเชื่อชะลอการขาย ให้ชาวนานำข้าวมาและรับเงินไป หรือจะเรียกว่าจำนำก็ได้ และดูแลโรงสีซื้อข้าวให้ได้ราคา ถ้าได้ราคาต่ำก็ชดเชยให้

ยืนยันที่จะผลักดันโครงการรับจำนำข้าว เพราะถือจะช่วยหาวิธีให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น จากราคาข้าวเป็นภารกิจหลักที่พรรคดำเนินการ แม้จะถูกโจมตีว่ารับจำนำราคาสูงกว่าราคาตลาด ไม่ขาดทุน แต่เราไม่เรียกจำนำก็ได้ แต่เราอาจจะเรียกว่าสินเชื่อชะลอการขาย

ส่วนนายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การขายข้าวในราคาตลาดในแต่ละปี 6-8 หมื่นล้านบาท สิ่งที่แตกต่างเราบอกว่าชาวนาจะได้เพิ่มจาก 1,500 เพิ่มเป็น 2,000 ต่อไร่เพราะต้องการให้ชาวนาได้รับราคาที่เหมาะสม

จะสนับสนุนการรวมกลุ่มชาวนา พัฒนาพันธุ์ข้าว และต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่า เพราะสาเหตุที่ชาวนาจน เพราะเรามีการต่อยอดสินค้าจากข้าวน้อยมาก

ส่วนนายพิสิฐ กล่าวว่า ต้องดูรายได้เกษตรกร เพราะภาคเกษตรและอาหารถือเป็นกระดูกสันหลังของไทย ที่ผ่านมาเราประสบวิกฤต เศรษฐกิจ แต่มีภาคเกษตรรองรับ จึงทำให้ฟื้นได้เร็ว จึงเชื่อว่าทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญชาวนา

ส่วนวิธีป้องกันคอร์รัปชัน ต้องมีกลไกประกันราคาให้กับเกษตรกรรายคน เช่น ชาวนาคนนี้เมื่อปลูกข้าวแล้วพิสูจน์ได้ว่า มีรายได้ต่ำ รัฐบาลก็จะส่งเสริม

ขณะที่นายเอกพร สะท้อนว่า ปัญหาทุจริต ถ้าไม่ทุจริตราคาข้าวจะดีขึ้น ผู้ส่งออกจะไม่ถูกผู้ค้าจากต่างประเทศกดราคา สิ่งแรกต้องจัดการทุจริตมาตั้งแต่ท้องนา

ส่วนนายมิ่งขวัญ ระบุว่า  ถ้ามีโอกาสทำ สิ่งที่จะทำ ไม่ต้องจำนำ ไม่ต้องรับความชื้น เกี่ยวให้ฟรี ชาวนาถือเงินเป็นฟ่อน 1 ข้าวเปลือก เกวียนละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวหอมเกวียนละ 23,000 บาท

ชาวบ้านถามนโยบายพรรคแก้ความเหลื่อมล้ำที่ดิน 

นายสวาท อุปฮาด แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ จ.ขอนแก่น ได้สอบถามพรรคการเมืองว่ามีนโยบายแก้ปัญหาสิทธิ์ที่ดินทำกินและจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านอย่างไร

โดยนายกอบศักดิ์ ระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดินเป็นปัญหาที่รุนแรงในไทย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ไขและเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทำให้คนที่อยู่ในป่า สามารถอาศัยอยู่ในป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่ดิน เพราะหลุดมือและถูกกดขี่จากหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้ปราบหนี้นอกระบบและทวงโฉนดคืนมา รวมถึงดำเนินการออกกฎหมายขายฝาก ซึ่งเราพยายามให้ประชาชนรักษาที่ดิน

ด้านนายกิตติรัตน์ ได้สะท้อนว่า ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีข้อยกเว้น และสุดท้ายเอื้อประโยชน์กับบางกลุ่ม ถ้าพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลจะไม่เอื้อรายใหญ่ พร้อมปรับแก้ให้อัตราภาษีที่ดินมีความเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มใดเป็นหลัก

ขณะที่นายเอกพร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำถือครองที่ดินมีรากฐานจากปัญหาที่ดินที่แตกต่างทั้ง ส.ป.ก. ป่าไม้ และ ภบท.5 ทำให้หน่วยงานทะเลาะกัน เพราะมีพื้นที่ทับซ้อน คนจนถูกเอาเปรียบ เอาเงินไปกว้านซื้อที่ดิน จึงอยากเสนอให้ถ้าทุก อบต.สามารถตรวจสอบที่ดินรกร้างได้ และรัฐบาลต้องยึดมาเป็นที่ดินของรัฐ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง 2562: มองอนาคตไทยหลังเลือกตั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง