กรมประมง ชี้ "กระเบนนก"กินได้ไม่ผิดกฎหมาย-แต่อยากให้อนุรักษ์

สิ่งแวดล้อม
5 มี.ค. 62
13:25
871
Logo Thai PBS
กรมประมง ชี้ "กระเบนนก"กินได้ไม่ผิดกฎหมาย-แต่อยากให้อนุรักษ์
กรมประมง ชี้แจงประเด็นโซเชียลกรณีรายการอาหารดัง ทำอาหารจาก "กระเบนนก" ชี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรช่วยกันอนุรักษ์มากกว่านำมาบริโภค ไอยูซีเอ็นประกาศฉลาม-กระเบนทั่วโลกในบัญชีแดง 1,038 ชนิด

วันนี้ (5 มี.ค.2562) นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหาร จากการตรวจสอบ มี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และกระเบนนกจุดขาว สำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว หรือ ปลากระเบนยี่สน อยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งน่านน้ำไทยที่พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

กระเบนชนิดนี้มีลักษณะผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน ทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยเจอหนักสุด 3 เมตร หนัก 230 กิโลกรัมอาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็ก อาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็กหอยปลาหมึกกุ้งและปูเป็นอาหาร

ไอยูซีเอ็นขึ้นทะเบียนฉลาม-กระเบน 1,038 ชนิด

สำหรับในประเทศไทยปลากระเบนนก เป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมงไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนก จะไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยา กรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)ได้สำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลก จำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นในไอยูซีเอ็น Red List

สำหรับกระเบนนกชนิดนี้ แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี ไอยูซีเอ็น Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์ เนื่องจากการประเมินสถานภาพ พบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว

ดังนั้นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้ลดน้อยลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือชาวประมง หากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะแม้ไทยจะมีการมาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ และไม่นิยมมาบริโภค แต่ก็เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มาสเตอร์เชฟไทย" แจงกระเบนกินได้ สินค้าโอทอป จ.เพชรบุรี

 "กระเบนนก"ถูกชำแหละตายฟรี กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครอง

รู้จัก "กระเบนนก" สัตว์ทะเลหายากในบัญชี IUCN

พบ "กระเบนนก" แหวกว่ายอวดโฉมทะเลเกาะพีพี

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง