ขู่ร้องศาลปกครอง ! ครม.ผ่านเหมืองปูนป่าทับกวาง เขตลุ่มน้ำ 1 เอ

สิ่งแวดล้อม
6 มี.ค. 62
11:34
7,081
Logo Thai PBS
ขู่ร้องศาลปกครอง ! ครม.ผ่านเหมืองปูนป่าทับกวาง เขตลุ่มน้ำ 1 เอ
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขู่ฟ้องศาลปกครอง หลัง ครม.ไฟเขียวทำเหมืองหินปูนซิเมนต์ 3,223 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมเวลา 18 ปี ชี้ขัดมตืครม.เดิิม 12 ธ.ค.2532 ไม่อนุญาตราชการ-หน่วยงานเข้าใช้ประโยชน์

วันนี้ (6 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้ ( 5 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ท้องที่ จ.สระบุรี

สำหรับพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก และต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง โดยเสนอให้ผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน โดยหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.2554 แต่อายุประทานบัตรเหมืองแร่ถึงวันที่ 27 เม.ย.2579

จ่อฟ้องศาลปกครอง-เร่งครม.ทบทวนมติ

ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่องคัดค้านมติอัปยศอนุมัติทำเหมืองในป่าสงวนทับกวาง-มวกเหล็ก ระบุว่า  พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งมติ ครม.ในอดีตเมื่อ 12 ต.ค. 2519 เคยกำหนดห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี

ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร ยกเว้นจะผ่อนผันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น การก่อสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคงเท่านั้น ตามมติครม. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2532 ซึ่งเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และระบุด้วยว่าไปจะไม่อนุมัติให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใดใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เออีกไม่ว่ากรณีใด

แต่การที่ ครม.อนุมัติพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปให้กับกลุ่มทุนบริษัทเอกชนในตลาด หลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจ เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันไปกว่า 3,000 ไร่ ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้

และในอดีตหากจะมีการขอผ่อนผันก็จะอนุญาตให้ไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับประเคนให้ถึง 18 ปีอย่างง่ายดาย แต่เวลาชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ด เก็บผักหวานในพื้นที่ป่าบ้าง กลับต้องถูกจับขังคุก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของใครกันแน่

การใช้อำนาจดังกล่าวส่อจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.53 ม.57 และม. 63 ประกอบ มาตรา 17 วรรค (4) ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2559 ที่กําหนดให้การทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับน้ำซึมโดยเด็ดขาด

กรณีดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงขอเรียกร้องไปยัง ครม.ขอให้ทบทวนมติอัปยศดังกล่าว หากยังมีจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง และหากไม่ดำเนินการสมาคมฯ ชาวบ้านจำเป็นต้องหันไปพึงบารมีของศาลปกครอง

กรมป่าไม้ ระบุพื้นที่สัมปทานเดิม 

แหล่งข่าวจากกรมป่าไม้ กล่าวว่า พื้นที่ที่ผ่อนผัน เป็นพื้นที่สัมปทานเดิม และผ่านความเห็นชอบมาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกลั่นกรองชุดต่างๆมาแล้ว ที่มองเห็นความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรม และขณะนี้ยอมรับว่าเลยขั้นตอนจากกรมป่าไม้ไปแล้ว เมื่อถามว่าทุกอย่างยกเว้นได้หรือไม่ แหล่งข่าวระบุว่า ถ้าเป็นโครงการที่จำเป็น ก็ดำเนินการได้ และเชื่อว่ารัฐ มีการควบคุมเอกชนที่ทำเหมืองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี 

จากการตรวจสอบพบว่า ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดพื้นที่ป่าเขาหินดาด ป่าเขาคอก และป่าสงวนแห่งชาติป่ามวกเหล็กและป่าทับกวางแปลงที่ 2 และป่าทับกวาง-มวกเหล็กแปลง 2 ในท้องที่ ต.หินซ้อน ต.ท่าคล้อ ต.ท่าตูม ต.ทับกวาง ต.ชําผักแพว และต.ท่ามะปราง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

พร้อมกำหนดบัญชีชนิดสัตว์ป่าท้ายประกาศกระทรวงฯ ซึ่งมีมากถึง 144 ชนิด ทั้งกลุ่มสัตว์เลี่ยงลูกด้วยนม ที่สำคัญได้แก่ เลียงผา กระทิง เสือไฟ กลุ่มนก และกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ราชกิจจานุเบกษา ยังกําหนดบริเวณที่ดินป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1และป่าดงพญาเย็น ในท้องที่ต.คําพราน ต.แสลงพัน อ.วังม่วง ต.หนองย่างเสือ ต.มวก เหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พื้นที่ 26,238 ไร่ “ป่าทับกวาง ป่ามวกเหล็ก ป่าดงพญาเย็น” เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง