"CPR ครั้งแรก ช่วยคนได้" เปิดใจ นิสิตฮีโร่ช่วยพ่อ "ก็อต อิทธิพัทธ์"

สังคม
7 มี.ค. 62
17:58
156,778
Logo Thai PBS
"CPR ครั้งแรก ช่วยคนได้" เปิดใจ นิสิตฮีโร่ช่วยพ่อ "ก็อต อิทธิพัทธ์"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจนายกรภัทร เถาทอง นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 3 มศว กับประสบการณ์แรก ในการทำปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยพ่อของนายอิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ นักแสดงหนุ่มชื่อดัง จนถึงมือหมอปลอดภัย

จากกรณีนิสิตแพทย์ มศว. ช่วยทำ CPR ในนาทีชีวิต หลังชายวัยประมาณ 50 ปี มีอาการชักและหัวใจหยุดเต้นกลางโรงภาพยนตร์ช่วงค่ำวานนี้ ก่อนทีมแพทย์นำส่งโรงพยาบาลสมิติเวชเพื่อรักษาต่อไป

ล่าสุด วันนี้ (7 มี.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้สัมภาษณ์ นายกรภัทร  เถาทอง หรือ ก้อง นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ฮีโร่ที่เข้าช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น พ่อของ "อิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ หรือ ก็อต" นักแสดงหนุ่มชื่อดัง

นายกรภัทร เล่าว่า หลังจากชมภาพยนตร์จนเกือบจบเรื่อง เวลาประมาณ 20.00 น. ได้ยินเสียงเหมือนคนหล่นลงพื้น พร้อมๆ กับเสียงคนตะโกนร้องให้ช่วย เวลานั้นได้ลุกขึ้นยืนดูสักพัก แต่ไม่มีใครเข้าให้ความช่วยเหลือ

ตอนนั้นคิดในใจว่าเราเรียนหมอ ถึงจะไม่เคยปฏิบัติจริงมาก่อน แต่มีคนกำลังขอความช่วยเหลือก็ต้องช่วย เลยรีบวิ่งเข้าไปดู ปรากฏว่าผู้ป่วยไม่หายใจแล้ว จับชีพจรก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจทำ CPR

นิสิตแพทย์ชั้นปี 3 ที่ยังคงเรียนภาคทฤษฎีและไม่เคยลงมือปฏิบัติตัดสินใจในนาทีชีวิต จับชีพจร และตรวจลมหายใจผู้ป่วย ก่อนลงมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการประสานมือไว้ที่อกของผู้ป่วย นั่งลงตั้งเข่าด้านข้าง แล้วออกแรงกดหน้าอกลึก 2-3 นิ้ว ให้ข้อศอกตึง จากนั้นเริ่มทำการปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่อง 100-120 ครั้งต่อนาที 

 
เมื่อสอบถามญาติผู้ป่วยพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติเคยหมดสติก่อนหน้านี้ 2 ครั้งแล้ว และเมื่อทำ CPR ก็สามารถช่วยเหลือได้ จึงตัดสินใจปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง และเป่าปาก 2 ครั้ง ทำทั้งหมด 2 เซ็ต โดยดันคางผู้ป่วย จัดศีรษะให้เชิดขึ้น เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจ แล้วให้คนเป่าลมเข้าไป โดยสังเกตบริเวณหน้าอกจะมีการขยับพองขึ้น และไม่มีลมรั่วออกจากปาก ถือว่าเป็นการเป่าปากที่ถูกวิธี

ระหว่างการทำ CPR นานกว่า 20 นาที ญาติผู้ป่วยและผู้ชมในโรงภาพยนตร์ได้พยายามติดต่อรถพยาบาล จนทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช เดินทางมาถึงจึงส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแล

ผมทำครั้งแรก แม้จะกังวลแต่ก็ทำเต็มที่ รู้สึกดีมากที่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมา ช่วยชีวิตคนได้จริงๆ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากความกล้า กล้าที่จะยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ให้ได้

ทั้งนี้ นายกรภัทร ทิ้งท้ายกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่า แม้ทุกคนจะตกใจมากกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สิ่งสำคัญในการช่วยชีวิตจริงๆ คือ ต้องมีสติ และต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด อย่ากลัวที่จะช่วยเหลือ เพื่อยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยได้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญ เพราะทุกคนต้องมีครั้งแรกเสมอ และเชื่อว่าทุกคนจะสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง