บันทึก ...ขอร้อง ห้ามบอกใคร

สังคม
9 มี.ค. 62
10:35
5,223
Logo Thai PBS
บันทึก ...ขอร้อง ห้ามบอกใคร
เปิดใจ นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐ ยอมรับเครียดจากการเรียนการสอน ปัญหาทางบ้าน จนเกือบเป็นโรคซึมเศร้า แต่โชคดีเข้าพบจิตแพทย์ ปรึกษาจนสามารถก้าวผ่านช่วงมรสุมได้สำเร็จ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  เธอยอมบอกบันทึก (ลับ) ที่ไม่อยากบอกใคร แต่อยากสะท้อนปัญหาในชีวิตจริงที่ต้องเผชิญ และก้าวพ้นช่วงชีวิตของความเครียดได้สำเร็จ 

เธอ เล่าว่า ช่วงการเปลี่ยนสังคมจากมัธยมศึกษาสู่มหาวิทยาลัย เปลี่ยนที่อยู่ สังคมเพื่อน และพลวัตที่ต่างทำให้ต้องปรับตัว เข้ารั้วมหาลัยมาพร้อมความฝัน และความหวังของครอบครัว พ่อแม่ ญาติ หลายคนที่แบกรับไว้ แม้จะเป็นคนมองโลกแง่บวก แต่ลึกๆ รับรู้ได้ถึงความความหวังนั้นอยู่

คนรุ่นก่อนเชื่อมั่นในระบบการศึกษา เชื่อว่าเราเรียนจบ มีงานทำดีๆ แต่เราหวังพึ่งการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ มันไม่ใช่หลักประกันว่าจบแล้วจะมีงานทำ ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าเราจะมีความสุข ความกังวลใจแห่งวัยหนุ่มสาวนี้วนเวียนตั้งข้อสงสัยอยู่ในใจของผู้เขียน

เธอ บอกว่า ในช่วงที่เรียนนั้นสังคมเพื่อน และวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มดีมากถือว่าโชคดีที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้ส่วนตัวไม่เครียดเรื่องสังคมเพื่อน แต่มีเงื่อนไขของวิชาเรียนที่กำหนดไว้ว่าหากสอบไม่ผ่านต้องเรียนซ้ำ เสียเวลาอีก 1 ปี แรงตึงแห่งความคาดหวังจากครอบครัวที่แบกมาพร้อมฝันจากบ้านวันนั้นก็ถูกกระตุกขึ้นมาอีกครั้ง

ตอนปีสามเป็นช่วงเรียนหนัก และงานเยอะ นอนตีสาม ตื่นเก้าโมง บ่อยครั้งที่ไม่ได้นอนติดต่อกันเกือบ 2 เดือน ส่งผลต่อสุขภาพที่ป่วยบ่อย และความเครียดที่เริ่มส่งผลกับจิตใจ

เธอ ย้ำว่า ไม่ได้จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้หนักที่สุดในชีวิต ที่เคยเจอ เพียงแต่อยากสะท้อนว่าสิ่งที่ระบบโครงสร้าง บังคับและบีบรัดให้ผู้เขียนและเพื่อนนักศึกษาต้องเจอและสู้ ใครสู้ไม่ไหว คุณแพ้ ถูกคัดออก แต่ไม่น้อยนักที่เพื่อนร่วมชะตาของผู้เขียน เริ่มรู้จักและสนิทกับเพื่อนใหม่ชื่อโรคซึมเศร้า เพื่อนหลายคนเปลี่ยนไปไม่ค่อยเจอกันอีกที่ใต้ตึกคณะหรือในห้องเรียน แต่กลับบังเอิญเจอกันที่งานบริการให้คำปรึกษาทางจิตของมหาวิทยาลัย

 

 

คนแพ้ถูกคัดออก


นอกจากนี้ เธอยังบอกว่า ระบบแพ้คัดออกเป็นสิ่งที่นักเรียน นักศึกษาในโครงสร้างที่ระบบการศึกษาแบ่งแยกเด็กต้องเผชิญหน้ามาตลอด 19 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปี 4 ในปัจจุบัน ทำให้เกิดทึกทักเอาเองว่าผู้ใหญ่คงเตรียมให้เราพร้อมเข้าสู่โลกจริง?

ในวัยนักศึกษาเห็นการคัดออกนี้ไม่ใช่แค่การรีไทร์ หรือลาออก แต่เพื่อนของเธอกลับหนีระบบนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย เพื่อนอีกคนทำไม่สำเร็จหรือเล่าให้ฟังว่าอยากฆ่าตัวตาย ปรึกษาด้วยทีเล่นทีจริงว่าตายอย่างไรเจ็บน้อยศพสวย

ทำให้ตั้งคำถามสำรวจตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เมื่อสับสนว่าสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้คืออะไรและหาวิธีจัดการไม่ได้จึงเข้ารับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้

ตอนนั้นเป็นช่วงสอบปลายภาคในวิชาที่ไม่ถนัด และเกรดที่สะสมมาก็ต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว ประกอบกับมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องขาดเรียนไปออกกองรับงานบ่อยๆ จัดการเวลาและระบบชีวิตได้ไม่ดีนัก แม้จะพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว จนเริ่มสังเกตว่า ตัวเองมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ร้องไห้ทุกคืนโดยไม่รู้ว่าคืออารมณ์เศร้า โกรธ หรือเครียด จนลามไปถึงเกลียดตัวเองแต่ไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไรจึงตัดสินใจไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ

ก้าวแรกที่เข้าไปในห้องปรึกษาที่ถูกออกแบบมาให้เป็นห้องส่วนตัว กลางห้องมีโต๊ะกลม และเก้าอี้ทรงยาวล้อมรอบโต๊ะ เริ่มแรกจะได้รับใบประเมินเพื่อดูว่า เรามีสภาวะไหนและควรบำบัดด้วยวิธีใด หลังจากประเมินทราบว่าผู้เขียนอยู่ในสภาวะเครียดมากในระดับสูง ต่อมาจึงเข้าสู่กระบวนการปรึกษา(Conseling) ซึ่งเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความกังวลใจทั้งหมดให้ผู้เชี่ยวชาญรับฟัง ตลอดการฟังนั้นมีการจับมือ และสบตาด้วยความจริงใจ

ในขณะนั้นรู้สึกปลอดภัย พร้อมเล่าทุกเรื่องให้คนตรงหน้าฟัง เล่าไปเรื่อยๆ โดยมีคนคอยคิดแนะให้เราจับความคิดเราให้ทันว่ามันคือความรู้สึกอะไร

เมื่อคุยจบจึงแยกอารมณ์ได้ชัดขึ้น มองให้เห็นและกลับมาที่จุดเริ่มต้นของปัญหานั้น หลังจบการพูดคุยวันนั้นความกังวลหายไปมาก

แม้จะรู้ว่ามันยังอยู่ แต่เรารู้ว่าเรารับมือมันได้ อยู่ด้วยกันกับความเครียดนั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามคำแนะนำ พอผ่านช่วงมรสุมสอบนั้นมาได้ รู้ตัวอีกทีมวลพลังลบสีดำๆในใจก็หายไปเหมือนกัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครียด ! นิสิตชั้นปี 3 กระโดดตึกเสียชีวิตในมหาวิทยาลัย

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง