ก้าวผ่าน ความเครียด แบบไหน?

สังคม
9 มี.ค. 62
07:25
6,129
Logo Thai PBS
ก้าวผ่าน ความเครียด แบบไหน?
ข่าววัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายในช่วง 2-3 เดือนแรกถึง 7 ชีวิต เริ่มมีคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมองว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากภาวะความเครียดในช่วงการเรียน มีคำแนะนำจาก อาจารย์ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต อาจารย์สาขาจิตวิทยา มธ.บอกถึงวิธีพิชิตและก้าวผ่านความเครียด

เพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ปรากฎข่าวการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอยู่บ่อยครั้ง และพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การจบชีวิตเกิดจาก "โรคซึมเศร้า"

ไทยบีพีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นางชลาลัย แต้ศิลปสาธิต อาจารย์สาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ความเครียดเกิดจากหลายปัจจัย คนที่มีวิธีดูแลตัวเองดี สามารถจัดการกับความเครียดและหายเองได้ แต่ในคนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น จะเกิดความเครียดสะสมหรือความเครียดเรื้อรัง มีโอกาสพัฒนาต่อเป็นภาวะโรคทางจิตได้

ระดับความเครียดที่ส่งเสียงถึงความผิดปกติ คือภาวะเครียดที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ในกรณีนักศึกษามักจะขาดเรียน บางกลุ่มเมื่อครียดจะกินมากหรือกินน้อยผิดปกติ เหนื่อย เบื่อหรือคิดอยากตาย เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ให้หาตัวช่วย นั่นคือผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา

 

วิธีรับมือด้วยตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิด "ความเครียด"

เมื่อเกิดความเครียดจนเริ่มมีความคิดแปลกๆ อย่า'ที่กล่าวมาข้างต้น ให้มองหา Supportive System คือกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจ ในกลุ่มคนที่มีภาวะเครียดมาก จะไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนสนับสนุน หรือรู้ว่ามีแต่ไม่กล้าบอกเล่าความกังวลนั้น

ในขณะเดียวกันบางคนก็ไม่มีกลุ่มที่คอยสนับสนุนนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเครียดควรไปหาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าลำพังตัวเองจัดการไม่ไหว

เพื่อนมักเป็นกลุ่มแรก ที่นักศึกษาเลือกที่จะของคำแนะนำ ด้วยความสนิทสนม และความห่วงใยในฐานะเพื่อนจึงถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบของการให้กำลังใจ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อนไม่ได้รับการฝึกฝนให้รับมือกับการให้คำปรึกษา

คำแนะนำจากเพื่อนจึงเป็นดาบสองคม หากรับฟังไปเรื่อยๆ อาจป่วยด้วยกันทั้งคู่

ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติของคนใกล้ตัว สิ่งที่ควรทำคือให้กำลังใจและสนับสนุนว่าทุกปัญหาที่เผชิญอยู่มีทางออกและแก้ไขได้ อย่าตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะ คนใกล้ชิดไม่ได้ถูกฝึกฝนให้จัดการกับสภาวะทางจิตนี้ ควรชักชวนเพื่อนไปพบผู้เชี่ยวชาญ

การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา

การบำบัดรักษาทางจิตวิทยา เป็นการรักษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ เป็นการหาทางออกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่ใช้วิธีบังคับรักษา และในทุกขั้นตอนต้องได้รับการยินยอมจากผู้รับการรักษา

การให้คำปรึกษาจัดอยู่ในการพูดคุยเพื่อบำบัด (Talk Therapy) มี 4 ขั้นตอนขึ้นอยู่กับระดับอาการของผู้รับการรักษา โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ให้รู้สึกปลอดภัย และผ่อนคลาย การพูดคุยปรึกษานี้ผู้เชี่ยวชาญต้องปกปิดเป็นความลับตามหลักจรรยาบรรณ แต่ถ้าประเมินว่าผู้รับการรักษาอยู่ในระดับอันตรายต่อตัวเองและคนรอบข้าง จะต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกและบอกกับคนที่เกี่ยวข้อง

"ซึมเศร้า" พรากชีวิต

ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอยู่บ่อยครั้ง และพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การจบชีวิตเกิดจาก "โรคซึมเศร้า"

15 ก.พ. นักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยเอกชน ย่านรังสิต ก่อเหตุฆ่าตัวตายด้วยวิธีรมควันภายในห้องพัก จนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เจ้าหน้าที่พบจดหมายลาตายและข้อความสั่งเสีย แม่ผู้เสียชีวิตยืนยันว่าลูกสาวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

20 ก.พ. นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยใน จ.เชียงใหม่ กระโดดลงไปในแม่น้ำปิง หวังฆ่าตัวตาย แต่ได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจและพลเมืองดีจนปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่าเคยมีความพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 2 ครั้ง

25 ก.พ. นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัย ย่านหลักสี่ ตกตึกหอพักใน จ.ปทุมธานี เสียชีวิต เจ้าหน้าที่สอบถามเพื่อนร่วมห้องพบว่าผู้เสียชีวิตมีความเครียดจากปัญหาครอบครัวและทะเลาะกับเพื่อน

28 ก.พ. นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตกลงมาจากอาคาร 8 ชั้น หวังฆ่าตัวตาย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ตำรวจตรวจสอบห้องพักพบจดหมายเขียนข้อความตัดพ้อชีวิต โดยสันนิษฐานสาเหตุว่าเกิดจากอาการเครียด

 

 

1 มี.ค. นิสิตชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัย ย่านปทุมวัน ตกจากอาคารเรียน 12 ชั้นภายในมหาวิทยาลัย เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบบัตรการรักษาของโรงพยาบาลและรับการรักษาอาการโรคซึมเศร้า

4 มี.ค. นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยชื่อดังในจังหวัดภาคอีสาน ตกอาคารเรียนชั้น 9 เสียชีวิต เจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุเกิดจากป่วยโรคซึมเศร้า

6 มี.ค. นิสิตชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัย ย่านบางเขน ตกอาคารเรียนชั้น 8 เสียชีวิต ตำรวจพบข้อความขอโทษครอบครัว เบื้องต้น เจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุเกิดจากความเครียด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครียด ! นิสิตชั้นปี 3 กระโดดตึกเสียชีวิตในมหาวิทยาลัย

แอปพลิเคชัน "สบายใจ" ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ 

หยุด! วัยรุ่นไทย "ฆ่าตัวตาย" ทุกปัญหามีค่าต่อการรับฟัง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง