ร่วมยื่น 20,000 ชื่อหนุนยกร่างมาตรฐานค่า PM2.5

สังคม
18 มี.ค. 62
21:23
219
Logo Thai PBS
ร่วมยื่น 20,000 ชื่อหนุนยกร่างมาตรฐานค่า PM2.5
หนึ่งในมาตรการที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 คือการปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานให้สอดคล้องกับหลักสากล วันนี้ (18 มี.ค.) ตัวแทนภาคประชาสังคมยื่นกว่า 20,000 รายชื่อเสนอกรมควบคุมมลพิษปรับเกณฑ์ค่ามาตราฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม.

วันนี้ (18 มี.ค.2562) ตัวแทนเครือข่าย friend zone, change.org และกรีนพีชเอเชียตะวันออกเชียงใต้ รวบรวมรายชื่อประชาชน 20,660 คนที่ลงชื่อรณรงค์ในเว็บไซต์ของ change และ Greenpeace ให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐานค่าความปลอดภัยในบรรยากาศ จากเดิมที่ไทยกำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

มาตรฐานนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันไทยกำลังเจอกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย แม้ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษจะเคยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาและยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ใหม่ เป็นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 1 ปี ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ปี 2547 แต่ก็ไม่มีการปรับแก้ เครือข่ายภาคประชาสังคมจึงเสนอให้เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2562

 

พร้อมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษแสดงค่าปริมาณฝุ่นละอองแบบเรียลไทม์ ให้มีข้อกำหนดเรื่องการแสดงแหล่งกำเนิดมลพิษของภาคเอกชน ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ และให้มีหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหามลพิษ แต่คำตอบที่ได้จากตัวแทนกรมควบคุมมลพิษคือ การปรับค่ามาตรฐานอากาศสะอาดจะเชื่อมโยงกับค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษด้วย ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วน จึงคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

นอกจากจะยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษแล้ว ภาคประชาสังคมกลุ่มนี้จะเดินหน้ายื่นเรื่องเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการคุมเข้มมลพิษเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่าวิกฤต PM2.5 ส่งผลกระทบรุนแรง จากผลการศึกษาพบว่าคนไทย เสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด ก่อนวัยอันควรถึง 37,000 คนต่อปี และขณะนี้หลายประเทศในเอเชียก็ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 แล้ว รวมถึงประเทศญี่ปุ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง