เภสัชกร เตรียมจับมือ “เดชา” พัฒนาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์

สังคม
11 เม.ย. 62
11:23
1,859
Logo Thai PBS
เภสัชกร เตรียมจับมือ “เดชา” พัฒนาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์
เภสัชกร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เตรียมถอดองค์ความรู้ “เดชา” เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนาสูตรยาจากกัญชา และเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้ใช้ยาจากกัญชามากขึ้น

สืบเนื่องจากนายเดชา สิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ แถลงข่าวเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) กรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิและยึดกัญชาของกลางที่มูลนิธิใช้ผลิตน้ำมันจากกัญชา พร้อมประกาศว่าเตรียมพัฒนายาที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา โดยเตรียมร่วมมือกับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เพื่อยกระดับยาจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้สืบค้นข้อมูลและพบว่า ภญ.สุภาภรณ์ เป็นหัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จากนั้นจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ถึงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา และยืนยันสถานะการเป็นหมอพื้นบ้านตามคำกล่าวอ้างของนายเดชาระหว่างการแถลงข่าว ผ่านรายการ มุม(การ)เมือง เวลา 06.30-07.00 น. วันนี้

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า นายเดชามีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะหมอพื้นบ้าน และยังเป็นคนแรกๆ ที่รู้จักการใช้รางจืดในการรักษาโรคหรือล้างพิษ ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งยังไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ในสมัยนั้น ดังนั้นนายเดชาจึงมีความเป็นหมอพื้นบ้านโดยพฤตินัย และเป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคม ส่วนการรับรองตามระเบียบคาดว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายเดชาทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขการรับรอง เช่น มีความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และถ่ายทอดความรู้ให้สังคม ฯลฯ

การถอดองค์ความรู้จากนายเดชา แม้จะไม่ใช่การวิจัยเต็มรูปแบบ แต่สามารถถอดบทเรียนและการศึกษากัญชาของนายเดชามาศึกษาต่อ รวมถึงผลักดันให้มีศูนย์เฝ้าระวังโรคและรักษาควบคู่กับการแพทย์ปัจจุบัน เป็นรูปแบบศูนย์เดชา 1 และศูนย์เดชา 2 ต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะต้องกระจายหมอพื้นบ้านไปด้วย ซึ่งเดิมได้กำหนดนัดหมายนายเดชา หมอพื้นบ้าน และผู้ที่เคยได้รับการรักษามาถอดบทเรียนแล้ว แต่มีเหตุเจ้าหน้าที่บุกค้นและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน

รอดูกฎกระทรวงที่จะออกมา คิดว่าสิ่งที่จะผลักดันคือรูปแบบศูนย์เดชา 1-2 ที่มีหมอพื้นบ้านคอยเฝ้าระวังโรค เก็บข้อมูล ควบคู่กับการรักษาอื่น ซึ่งกำลังพัฒนาโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่น

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า อนาคตต้องมีการรับรองใบประกาศ ผู้ที่สามารถครอบครองกัญชาเพื่อการปลูก เก็บเกี่ยว หรือรักษา เช่นเดียวกับกรณีประเทศญี่ปุ่น ที่ออกใบรับรองผู้ที่จะประกอบอาหารเกี่ยวกับปลาปักเป้า ที่ไม่ใช่ใครก็สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับยาหยอดที่มีสารสกัดจากกัญชาของนายเดชาจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่นั้น คิดว่าถึงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานภาครัฐ ควรใช้โอกาสจากกรณีนายเดชา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสม เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถใช้กัญชาในการดูแลตัวเอง เช่น วิเคราะห์ดูว่าควรมี THC เท่าไหร่ ซึ่งปกติยาที่ใช้ในภาคประชาชนมีน้อยมาก อาจน้อยกว่า 10 มิลลิกรัมต่อโดส ซึ่งขั้นตอนในทางปฏิบัติอาจจะมีคณะกรรมการพิจารณาตั้งแต่ระดับจังหวัดและกระทวง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านได้ช่วยเหลือคนตามที่เคยดำเนินการมา

เมื่อถามว่าโอกาสที่จะปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือปลูกเพื่อใช้รักษาโดยภาคประชาชนมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ต้องรอดูกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่คิดว่าประชาชนมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ปลูกกัญชา ซึ่งกรณีของนายเดชา หวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม เพราะการปลูกของภาครัฐใช้เงินมหาศาล และหน่วยงานที่มีสิทธิ หรือได้รับอนุญาตมีเพียงไม่กี่หน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหากคาดหวังถึงประสิทธิภาพจากกัญชาสูงสุด แต่ภาคประชาชนไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพจากกัญชาขนาดนั้น ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ดังนั้น เมื่อเรามีองค์ความรู้แล้วก็ควรนำมาปรับใช้และวางระบบป้องกันการใช้ในทางที่ผิด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง